ICT

ดีอีเอส เตือนปชช.อย่าหลงเชื่อข่าวปลอมอ้างชื่อกรุงไทย-ออมสินปล่อยกู้

ยักษ์ลงทุน – ดีอีเอส สรุปสถานการณ์ข่าวปลอมรอบสัปดาห์ พบเรื่องที่เข้าเกณฑ์ต้องตรวจสอบกว่า 50% เป็นหมวดข่าวสุขภาพ ขณะที่กระแสความสนใจเกาะกลุ่มที่เฟคนิวส์ 2 แบงก์ใหญ่ปล่อยกู้ผ่านเอทีเอ็ม เอสเอ็มเอส ไลน์ และเฟซบุ๊ก

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ผลการมอนิเตอร์ระหว่างวันที่ 27 พ.ค.-2 มิ.ย. 65 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบข้อความที่เข้ามา 11,712,505 ข้อความ จากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 222 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 116 เรื่อง โดยสัดส่วนหลักอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพฯ จำนวน 67 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวัดจากกระแสความสนใจของประชาชน ยังเกาะกลุ่มที่ข่าวเกี่ยวกับปากท้อง ส่งผลให้ข่าวปลอมที่มีการอ้างชื่อ 2 แบงก์ใหญ่ปล่อยกู้ผ่าน ATM เฟซบุ๊ก ไลน์ และเอสเอ็มเอส ได้รับความสนใจเป็นลำดับต้นๆ จากผู้ที่ได้รับข่าวสารจากการแชร์ข่าวปลอมในโซเชียล

โดยข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจมากสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธ.กรุงไทย ให้ขอสินเชื่อผ่านบัตร ATM ได้ทุกอาชีพ 2. ธ.กรุงไทย ส่ง sms มอบสิทธิ์เงินกู้ผ่านไลน์โดยให้ลงทะเบียนผ่านลิงก์ 3. ธนาคารออมสินเปิดเพจเฟซบุ๊ก สินเชื่อกู้เงินฉุกเฉิน 4.พบเจ้าหน้าที่อุทยานเกาะช้าง และเจ้าหน้าที่เกาะล้าน เป็นโรคฝีดาษลิง จำนวน 9 คน พาหะคือยุงก้นปล่องที่ไปกัดลิง 5. ไทยมีหลุมขุดเจาะน้ำมันและปิโตรเลียมจำนวนมาก แต่ราคายังแพงกว่าส่งออก

6. ผู้ที่มีอารมณ์ทางด้านลบบ่อย เศร้าหมอง ดื่มน้ำน้อย ความถี่ต่ำ ติดเชื้อโควิด 19 ได้ง่าย 7.อยู่ใกล้บริเวณเสาส่งสัญญาณ 5G ทำให้ป่วย คล้ายการติดเชื้อไวรัส 8. ไปรษณีย์ ประกาศรับสมัครพนักงานผ่านเฟซบุ๊ก 9. หน้ากากอนามัยที่ไม่ระบุ VFE จะไม่สามารถป้องกันไวรัสได้ และ 10. ธนาคารออมสินเปิดสินเชื่อภัยโควิด 19 วงเงิน 5,000-300,000 บาท ผ่านไลน์ @549puzfr

“อยากขอย้ำเตือนประชาชน ที่ยุคนี้ส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารประจำวันผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียล เมื่อได้รับข่าวใดๆ แม้จะมีชื่อหน่วยงาน องค์กร ที่ดูน่าเชื่อถือ แต่ควรเข้าไปติดตามหาข้อมูลเพิ่มเติมจากช่องทางอย่างเป็นทางการ ได้แก่ เว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก ของหน่วยงานที่ถูกอ้างชื่อ และที่สำคัญ อย่าคลิกลิงก์ หรือดาวน์โหลดลิงก์ หรือเข้าไป add ไลน์ไอดีที่ไม่รู้จัก ซึ่งถูกใส่ไว่ในข่าวปลอม/ข่าวบิดเบือนที่มีการส่งต่อกันผ่านโซเชียล” นางสาวนพวรรณกล่าว

นอกจากนี้ ยังต้องขอความร่วมมือประชาชน เมื่อได้รับข้อมูลผ่านโซเชียล อย่าเพิ่งหลงเชื่อในทันที ขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูล โดยสามารถแจ้งข้อมูลมายังศูนย์ฯ เพื่อช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ และยืนยันข้อเท็จจริงต่อไป และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87

ใส่ความเห็น