กฟผ. โชว์แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ปลูกป่า ฟื้นฟูเหมือง พัฒนาพลังงานสะอาด และอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และภาคีเครือข่าย จัดงานวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2565 โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.65 ณ ห้องประชุม Auditorium อาคารทิปโก้ 1 กรุงเทพฯ
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการเสวนา หัวข้อ การสร้างความเป็นพันธมิตร การฟื้นฟูสีเขียว เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เพื่อเราทุกคน โดยเปิดเผยว่า กฟผ. ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้า ได้ดำเนินงานตามภารกิจหลักเพื่อดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการตระหนักในความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่ต้องมีการประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบ รวมถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพให้กลับคืนสู่สภาพเดิม เช่น การใช้เชื้อเพลิงจากเหมืองลิกไนต์แม่เมาะของ กฟผ. มีการจัดทำแผนฟื้นฟูเหมือง เพื่อคืนสภาพป่าดั้งเดิม ตั้งแต่ขั้นตอนการดำเนินงานในปัจจุบัน จนถึงหลังหมดอายุการใช้งาน โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ที่สร้างบนพื้นที่ผิวน้ำของอ่างเก็บน้ำของเขื่อน ซึ่งจะสามารถลดการใช้ทรัพยากรที่ดิน โดย กฟผ. ออกแบบการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้แสงอาทิตย์สามารถลอดผ่านลงไปใต้น้ำได้ โครงการฯ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำ
กฟผ. ยังได้เข้าร่วม โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.-กฟผ.) ใน 17 พื้นที่เขื่อนและโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ โดยดำเนินหลากหลายกิจกรรมเพื่อปกป้องและอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นถิ่นบริเวณเขื่อนและโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ เขื่อนบางแห่งยังมีศูนย์เพาะพันธุ์ปลา เพื่อเป็นแหล่งเพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำ เป็นการดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ และเกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อชุมชนโดยรอบต่อไป
นอกจากนี้ เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต กฟผ. มีแผนดำเนินโครงการปลูกป่าล้านไร่ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้กลับคืนสู่สภาพเดิม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้แก่สิ่งมีชีวิต และเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนต่อไป ทั้งนี้ การปลูกป่ายังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 ) ได้กว่า 1.2 ล้านตันต่อปีอีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในงาน กฟผ. ได้ร่วมจัดนิทรรศการในหัวข้อ “นกแก้วโม่ง ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งจังหวัดนนทบุรี” เพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้าในการอนุรักษ์นกแก้วโม่งในจังหวัดนนทบุรี ร่วมกับชุมชนอำเภอบางกรวย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ กฟผ. ได้ให้การสนับสนุนแก่ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงพื้นที่สำนักงานใหญ่ และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ
กฟผ.ขอชวนทุกภาคส่วน และคนไทยช่วยกันคนละไม้ละมือดูแลและใส่ใจในการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทยและโลกในอนาคตต่อไป