การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงไตรมาส 2 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่น 10 ปี (Bond Yield) ปรับสูงขึ้นกว่า 100 bps. ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการออกตราสารหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมายังเพิ่มขึ้นถึง 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการเร่งระดมทุนของผู้ออกภาคเอกชนเพื่อล็อคต้นทุนการเงิน จากการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะขยับสูงขึ้นไปอีกในช่วงครึ่งหลังของปี
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล แถลงข่าวเปิดตัวครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ว่า การออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีมูลค่า 660,121 ล้านบาท คิดเป็น 64% ของมูลค่าการออกทั้งปี 2564 หรือเป็นการออกเพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมูลค่าการออกหุ้นกู้ในทุกกลุ่มอันดับเครดิตเพิ่มมากขึ้น และมีอายุเฉลี่ยยาวขึ้นจาก 4.7 ปี เป็น 5.1 ปี และพบว่าหุ้นกู้รุ่นอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปมีการออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 ลำดับแรกในครึ่งปีแรก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน (24%) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (15%) และกลุ่มปิโตร (13%) ทั้งนี้ จำนวนผู้ออกหุ้นกู้รายใหม่ (newcomer) เพิ่มขึ้นถึง 14 บริษัทจาก 7 บริษัทในครึ่งแรกปีที่แล้ว
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ปรับตัวสูงขึ้นทุกรุ่นอายุ สอดคล้องกับทิศทางการพุ่งขึ้นของ Bond yield สหรัฐฯ จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ประกอบกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาสสอง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี เท่ากับ 1.75% และ รุ่นอายุ10 ปี เท่ากับ 2.90% เป็นการปรับตัวสูงขึ้น 110 bps. และ 100 bps. ตามลำดับจากสิ้นปีที่แล้ว
ส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit spread) ในช่วงครึ่งปีแรกของหุ้นกู้อายุ 5 ปี กลุ่มอันดับเครดิต AA และ AAA มีการปรับตัวสูงขึ้น ส่วนอันดับเครดิตต่ำกว่า AA มีการปรับตัวลดลง แต่จากการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงไตรมาสสอง ส่งผลให้การออกหุ้นกู้มีต้นทุนที่สูงขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมา และสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด โดยหุ้นกู้อายุ 5 ปี กลุ่มอันดับเครดิต AAA, AA, A, BBB+ และ BBB มีต้นทุนดอกเบี้ยโดยเฉลี่ย ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ที่ 3.09%, 3.37%, 3.61%, 4.89% และ 5.35% ตามลำดับ
กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง แต่พลิกกลับเป็นขายสุทธิหลังการเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก่อนที่จะเริ่มทยอยกลับเข้าซื้อในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาเป็นการขายสุทธิอีกครั้งในเดือนมิถุนายนภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.75% ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 กระแสเงินลงทุนต่างชาติลดลงสุทธิ 5,175 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 นักลงทุนต่างชาติมียอดถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยมีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ถือครอง 8.4 ปี
ทั้งนี้ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า ด้วยมูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวในครึ่งปีแรกแล้วกว่า 6 แสนล้านบาท ประกอบกับส่วนที่จะออกเพื่อทดแทนรุ่นที่ครบกำหนดไถ่ถอนในครึ่งหลังของปี ทำให้คาดว่ามูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวในปีนี้จะทะลุ 1 ล้านล้านบาทได้เป็นปีที่สาม โดยมีโอกาสทำสถิติการออกสูงสุดใหม่หากเศรษฐกิจไทยมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ในโอกาสนี้ ดร. สมจินต์ ศรไพศาลได้เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของสมาคมในระยะ 2 ปีแรก (2565-2566) ของการเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการว่า จะอยู่ภายใต้แนวคิด “เสริมสร้าง ยกระดับ ขับเคลื่อน” ได้แก่ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของผู้ร่วมตลาด ยกระดับสู่ความเป็นเลิศในการพัฒนาบริการข้อมูลอย่างครบวงจรของสมาคม และขับเคลื่อนด้านความรู้และการศึกษาของผู้ร่วมตลาด รวมถึงส่งเสริมด้าน ESG เพื่อมุ่งไปสู่ความเติบโตอย่างยั่งยืนของตลาดตราสารหนี้ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ร่วมตลาด (Empowerment) ผ่านการนำเทคโนโลยีมาผสานกับองค์ความรู้ของสมาคม ต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้ผู้ร่วมตลาดมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลงทุนและระดมทุน ตอบสนองความต้องการของผู้ร่วมตลาด เช่น 1) MeBond Mobile application สำหรับนักลงทุนบุคคลในการติดตามข้อมูลลงทุนในตราสารหนี้ บันทึกพอร์ตลงทุน ติดตามการรับรายได้ดอกเบี้ย วันครบกำหนด ข้อมูลตราสารหนี้ออกใหม่ และข่าวสารของตลาดตราสารหนี้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว 2) E-Book Building platform สำหรับผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ ในการสำรวจความต้องการซื้อตราสารหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพ
3) Smart Funding Solution สำหรับผู้ออกตราสารหนี้ใช้ในการบริหารจัดการการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น วิเคราะห์ต้นทุนได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ สมาคมจะจัดเวที (Market Dialogue) รับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมตลาด (ผู้ออกตราสารหนี้ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าตราสารหนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และผู้ลงทุน) เพื่อร่วมกันพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะช่วยในการลงทุน และสร้างมาตรฐานการปฏิบัติในตลาดที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง
2. ยกระดับสู่ความเป็นเลิศในการเป็นศูนย์ข้อมูลตราสารหนี้ไทย (Excellence) โดยพัฒนาศักยภาพในการเป็นศูนย์ข้อมูลตราสารหนี้อย่างครบวงจร ได้แก่ ข้อมูลตราสารหนี้ที่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ออกตราสารหนี้ที่มีประสิทธิภาพเพื่อการตัดสินใจของนักลงทุน ข้อมูลราคาตราสารหนี้อ้างอิง (MTM) ที่ครอบคลุม และเชื่อถือได้ และจะดำเนินการพัฒนาข้อมูล/เครื่องมือเพื่อวิเคราะห์การลงทุนอย่างต่อเนื่อง
3. ขับเคลื่อนตลาดตราสารหนี้สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Education) ผ่านการเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ร่วมตลาดทุกกลุ่ม ทั้งนักลงทุนทั่วไป และผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน โดยการพัฒนาช่องทางการเรียนรู้ออนไลน์ (E-Learning Platform) ช่องทางโซเชียลมีเดีย การจัดอบรมสัมมนาในหลักสูตรใหม่ๆเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดตราสารหนี้ การจัดทำบทศึกษาวิจัยในประเด็นที่นำไปสู่การพัฒนาตลาด นอกจากนี้สมาคมจะส่งเสริมความรู้ด้าน ESG และสนับสนุนให้มีการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (ESG bond) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดตราสารหนี้