NEWS

BANPU โชว์งบครึ่งปีแรกแกร่ง ลุยลงทุนสร้างพอร์ตพลังงานครบวงจร

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) เผยผลดำเนินธุรกิจครึ่งแรกของปี 2565 ยังคงสร้างกระแสเงินสดและผลกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีรายได้จากการขาย รวม 3,029 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 102,496 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 97 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 1,543 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 52,284 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 165 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 682 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 23,053 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 634 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเป็นผลจากความต้องการใช้พลังงานที่ต่อเนื่องและอุปทานที่มีจำกัด บริษัทฯ มุ่งขยายพอร์ตพลังงานที่สะอาดขึ้น โดยได้ปิดดีลขยายกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งบาร์เนตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และจับมือพันธมิตรสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไออน บุกตลาดรถอีวี เร่งเดินหน้าขยายธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter รวมทั้งสร้าง New S-Curve ใหม่ ขยายการลงทุนในกองทุนเฮลธ์แคร์ในสหรัฐอเมริกา

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกปี 2565 นี้ นอกจากปัจจัยราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้วยังเป็นผลจากการเร่งขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงานแบบก้าวกระโดดตามกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยช่วงที่ผ่านมาในปีนี้ มีการลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติและธุรกิจกลางน้ำที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯ ทั้งยังได้ลงทุนในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Sequestration: CCS) ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ ในรัฐเท็กซัส ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญสู่การยกระดับความยั่งยืนในกระบวนการผลิตภายใต้หลัก ESG ที่เรายึดถือมาโดยตลอด รวมทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจใหม่นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้พอร์ตฟอลิโอทางธุรกิจและสร้าง       New S-Curve โดยเริ่มจากการลงทุนในกองทุนด้านเฮลธ์แคร์ นับเป็นการเปิดมิติใหม่สู่ธุรกิจที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ผู้คน (Life-Betterment)

สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกปี 2565 ของ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ด้านกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) ธุรกิจเหมือง มีผลประกอบการแข็งแกร่งจากราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เป็นผลจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นเช่นกัน ในขณะที่อุปทานตึงตัว นอกจากนี้การเข้าซื้อสัดส่วนผลประโยชน์ในแหล่งก๊าซธรรมชาติ และครอบคลุมถึงธุรกิจกลางน้ำบริเวณแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ ส่งผลให้กำลังผลิตรวมของธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปู เพิ่มเป็น 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน  

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทั่วไป สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน มีการลงทุนขยายพอร์ตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชูง็อก (Chu Ngoc) กำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ และน็อนไห่ (Nhon Hai) กำลังผลิต 35 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมการเดินเครื่อง (Pre-commissioning) เพื่อให้สามารถจำหน่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้เมื่อมีการเรียกกระแสไฟฟ้าจากผู้รับซื้อไฟ (EVN)

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) เร่งเดินหน้าสร้างความเติบโต โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณท์และบริการ เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) ให้แข็งแกร่ง โครงการที่สำคัญในครึ่งปีแรก ได้แก่ การร่วมเป็นพันธมิตรกับดูราเพาเวอร์ ผู้นำด้านระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเธียมไอออนระดับโลก และเชิดชัยมอเตอร์เซลส์ ผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย สร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับ e-Bus ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิต กิกะวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2569 พร้อมบุกตลาดรถอีวีในเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งมีการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ไปยังประเทศอินโดนีเซียผ่านบริษัทย่อยของบ้านปู ในการก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าจากหลังคาโซลาร์ รวม 7.27 เมกะวัตต์ 

เรายังคงเดินหน้าเสริมสร้างระบบนิเวศด้านพลังงานอย่างครบวงจรจากทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาความแข็งแกร่งในระยะยาว สามารถสร้างสมดุลของผลการดำเนินงาน และลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ทั้งสภาวะตลาด เศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดของสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย 

ใส่ความเห็น