จับตาตลาดหุ้นใกล้ผ่านจุดต่ำสุด !! “ทองคำ-บิทคอยน์” สินทรัพย์ต้านเงินเฟ้อ
นักลงทุนรุ่นใหม่เผยดอลลาร์แข็งค่ากดดันราคาสินทรัพย์ระยะสั้น ลุ้นระยะ 1-2 เดือน หากราคาไม่ทำจุดต่ำสุดใหม่ เป็นโอกาสเข้าสะสมหุ้นในระยะยาว ขณะที่ปัจจัยมหภาคจับตาทิศทางเงินเฟ้อ ชูทองคำและบิทคอยน์ เป็นสินทรัพย์รับมือภาวะเงินเฟ้อสูง ทางตลาดหุ้นจีน มีโอกาสกลับมา Outperform อีกครั้ง จากจุดแข็งที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากการแถลงที่เมือง Jackson Hole (แจ็กสัน โฮล) ของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ที่มีใจความสำคัญว่า FED ยังคงที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะเอาชนะเงินเฟ้อ โดยไม่กังวลว่าจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย มีผลให้ราคาหลายสินทรัพย์ต่างถูกเทขายลงมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ทองคำ และสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)
ทั้งนี้ ดัชนี Dollar Index ซึ่งสะท้อนความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ปรับตัวขึ้นสร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 20 ปี และยังเป็นการสร้างจุดสูงสุดใหม่อีกครั้งนับตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2565 โดยการแข็งค่าขึ้นมาจากนักลงทุนทั่วโลกเทขายสินทรัพย์อื่น ๆ และมาถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แทน
“ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม จนถึงการแถลงของ FED ที่ Jackson Hole ตลาดหุ้นมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความคาดหวังว่า FED จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แต่นั่นเป็นเพียงแค่ Bear Market Rally หรือ การฟื้นตัวระยะสั้นในภาวะตลาดขาลงเท่านั้น ในที่สุดตลาดหุ้น ทองคำและบิทคอยน์ ก็กลับเข้าสู่ภาพขาลงอีกครั้ง”
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาหลังจากนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนต้องจับตาทิศทางตลาดให้ดี เนื่องจากตลาดหุ้น ทองคำ และบิทคอยน์ ต่างปรับตัวลงมาใกล้เคียงจุดต่ำสุดของปีนี้ ถ้าหากภายในสองเดือนจากนี้ ทั้งสามสินทรัพย์ไม่ได้ทำจุดต่ำสุดใหม่ อาจเป็นสัญญาณว่าจุดต่ำสุดของตลาดอาจจะผ่านพ้นไปแล้ว และน่าจะเป็นโอกาสในการทะยอยเข้าสะสมในระยะยาว
“ทองคำ มีจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,678 ดอลลาร์สหัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 20 กรกฎาคม ส่วนดัชนี S&P500 มีจุดต่ำสุดที่ 3,627 จุด ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน และตลาดมีการฟื้นตัวกลับขึ้นไป 19% จนล่าสุดมีการย่อตัวลงมาประมาณ 10% ขณะที่ การปรับตัวของราคาดัชนีตลาดหุ้นหลักของโลกอื่น ๆ ก็มีรูปแบบคล้าย ๆ กันทั้งหมด ดังนั้น หลังจากนี้ หากราคาไม่มีการทำจุดต่ำสุดใหม่ในเชิงเทคนิค ถือว่าน่าสนใจ”
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตา คือ Dollar Index ว่าจะยังทำจุดสูงสุดใหม่ไปได้อีกหรือไม่ โดยแนวต้านต่อไปจะอยู่ที่ระดับ 120 จุด ซึ่งจะมีอัพไซด์จากนี้อีก 10% ถ้าหาก Dollar Index เริ่มไม่ทำจุดสูงสุดใหม่ หรือ กลับตัวเป็นขาลง ก็ถือว่าเป็นปัจจัยบวก นอกจากนี้ยังต้องจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ถ้าหากปรับตัวลงต่อเนื่องก็จะเป็นสัญญาณบวก เพราะเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมมีการปรับตัวลงมาจากเดือนมิถุนายนแล้ว
“สินทรัพย์ที่ต้องจับตา คือราคาน้ำมัน ที่เริ่มปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจากความกังวลว่า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งการที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอาจทำให้เงินเฟ้อไม่ขึ้นไปมากกว่านี้ แต่จะยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากเงินเฟ้อได้เข้าไปอยู่ในต้นทุนของสินค้าต่าง ๆ ไปหมดแล้ว”
ขณะที่ สินทรัพย์น่าสนใจในการลงทุน ถ้าหากตลาดกลับมาเป็นขาขึ้น แต่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ก็คือ “ทองคำ” จากการที่เป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนทั่วโลกนิยมถือ เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อและยังไม่ได้รับผลกระทบจาก Recession เช่นเดียวกัน “บิทคอยน์” ถือเป็นอีกสินทรัพย์ที่น่าสนใจ เพราะแนวโน้มราคาอาจจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งจากการที่เป็นสินทรัพย์ที่มีภาวะเงินฝืด ประกอบกับวงจรของราคาอาจจะกลับมาใกล้รอบขาขึ้นใหม่อีกครั้งก่อนจะเกิด Bitcoin Halving
ส่วนตลาดหุ้นที่น่าจับตา คือตลาดหุ้นจีน หลังจากค่อนข้าง Underperform ตลาดหุ้นอื่นค่อนข้างมากจากการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) จนกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่หลังกลางเดือนตุลาคมที่จะมีการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งน่าจะเป็นการแต่งตั้งสี จิ้นผิง ขึ้นเป็นประธานาธิบดี อีกวาระ 5 ปี โดยคาดว่าจะมีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ออกมา ประกอบสถานการณ์โควิดในประเทศน่าจะเริ่มผ่อนปรนลง โดยจีนมีจุดเด่นที่มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ จึงมีโอกาสกลับมา Outperform อีกครั้ง
นายณพวีร์ กล่าวอีกว่า ตลาดหุ้นยุโรป แม้ว่าจะปรับตัวลงมามากที่สุด แต่ในเชิงพื้นฐานจะยังได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงเกือบทุกประเทศ ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีประเด็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะตลาดแรงงาน แม้ตลาดจะผ่านจุดต่ำสุดไปได้ แต่โอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมาได้เร็วอาจจะเป็นไปได้ยาก จึงควรเน้นลงทุนในระยะยาว ตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปจะเหมาะสมกว่า