ก.ล.ต. กับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง เพื่อมุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัล (ตอนที่ 1)
นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายสื่อสารองค์กรและเครือข่ายตลาดทุนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ในช่วงปลายปี 2562 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) ของตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น DLT หรือ blockchain เป็นต้น มาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพตลาดทุน
ซึ่งโครงการได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจและช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ลดต้นทุนการทำธุรกรรมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ง่าย รวมถึงได้รับบริการผ่านระบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) จะเปรียบเสมือนถนนสายกลางหรือกระดูกสันหลังของตลาดทุนที่เชื่อมต่อเข้ากับระบบหลังบ้าน (back office) ของผู้เกี่ยวข้องทั้งอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน และถูกออกแบบให้เป็น open architecture ที่เปิดกว้างรองรับผู้ประกอบธุรกิจการทุกราย
โดยระบบกลางดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในตลาดทุนให้บริการอยู่บนระบบที่มีมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม และปรับเปลี่ยนกระบวนการในตลาดทุนให้เป็นดิจิทัลตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การเริ่มเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ การจองซื้อหลักทรัพย์ที่ออกเสนอขายครั้งแรก การซื้อขายเปลี่ยนมือหลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนมีอยู่เดิม
ไปจนถึงการทำธุรกรรมหลังการซื้อขายแล้วเสร็จ และสามารถเรียกขอข้อมูลภาพรวมการลงทุนหลักทรัพย์ที่ถือครองได้ทั้งหมดในลักษณะพอร์ตโฟลิโอจากทุกบัญชีที่ใช้บริการในตลาดทุน (Account Aggregation) โดยครอบคลุมผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนทุกประเภท ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน หน่วยลงทุน และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ด้านประโยชน์ที่จะเกิดกับภาคส่วนต่าง ๆ ในตลาดทุนเมื่อมีการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกลาง ในส่วนของผู้ออกเสนอขายหลักทรัพย์ (issuer) เมื่อยื่นออกเสนอขายต่อ ก.ล.ต. ผ่านระบบดิจิทัลที่เป็น machine readable ลงนามแบบ e-signature จะทำให้ดำเนินการเพื่อออกขายสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว และกระบวนการหลังการเสนอขาย เช่น การส่งรายงานหลังการขายต่อ ก.ล.ต. หรือการจัดทำข้อมูลทะเบียนหลักทรัพย์ สามารถดำเนินการได้อย่างอัตโนมัติ
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการผู้ลงทุนรายย่อยหรือสถาบัน จะทำให้การเปิดบัญชี การส่งคำสั่งจองซื้อในตลาดแรกหรือซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดรอง การแสดงข้อมูลพอร์ตโฟลิโอโดยรวมของผู้ลงทุน (Account Aggregation) ที่ดึงข้อมูลจากนายทะเบียนทุกราย การส่งแจ้งเตือนเกี่ยวกับสิทธิของผู้ลงทุน สามารถดำเนินการผ่านระบบดิจิทัลได้โดยไม่ต้องมาที่สาขาหรือจัดส่งเอกสารที่เป็นกระดาษ
ขณะที่ผู้ลงทุนซึ่งใช้บริการบริษัทหลักทรัพย์ เมื่อส่งคำสั่งจองซื้อหลักทรัพย์ในตลาดแรกเข้ามาแล้ว ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriter) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยขายหลักทรัพย์ให้กับ issuer จะจัดการข้อมูลคำสั่งด้วยมาตรฐานเดียวกัน ช่วยลดภาระของ issuer/underwriter ไม่ต้องจัดการจัดเก็บเอกสารที่เป็นกระดาษ
นอกจากนี้ ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการปิดสมุดเพื่อกำหนดสิทธิของผู้ลงทุนในการรับดอกเบี้ยหรือเงินปันผลทำได้อย่างอัตโนมัติเมื่อถึงวันที่กำหนด ช่วยให้ผู้ลงทุนหรือ issuer สามารถใช้สิทธิที่เกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ เช่น การไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ใช้สิทธิในการดำเนินการก่อนที่จะถึงกำหนดอายุตราสาร เป็นต้น
ผ่านกระบวนการดิจิทัลจากเดิมที่ต้องติดต่อผ่านเอกสาร อีกทั้งยังช่วยแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุการณ์ตราสารหนี้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นไปยังหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ทั้งนี้ ในระยะแรกของการพัฒนาระบบ Digital Infrastructure จะเริ่มจากผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ ก่อนจะขยายไปผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ในอนาคต โดยจะตั้งต้นจากการพัฒนาส่วนรับข้อมูลเกี่ยวกับการออกเสนอขายตราสารหนี้แบบ Web Portal ซึ่งเชื่อมโยงผู้ร่วมตลาดเข้าด้วยกันผ่านระบบออนไลน์ ประกอบด้วยกลุ่มผู้ระดมทุน ผู้ประกอบธุรกิจทั้งธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)
รองรับการประมวลผลและสื่อสารข้อมูลระหว่างกันในกระบวนการออกเสนอขายตราสารหนี้ และการทำธุรกรรมในตลาดแรก รวมถึงจะรองรับตราสารหนี้ทั่วไปที่ไม่มีความซับซ้อน (plain bond) ก่อนที่จะขยายไปยังตราสารหนี้ที่มีความซับซ้อน (complex bond) ในระยะถัดไป
การทำงานร่วมกันระหว่างผู้ออกตราสารหนี้และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องบนระบบ Web Portal จะเป็นแบบดิจิทัล โดยจะทำงานด้วยกระบวนการและชุดข้อมูล (standard file format) ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรม
ทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปประมวลผลต่อได้ การปรับปรุงวิธีรับเอกสารจากเดิมที่อยู่ในรูปกระดาษให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และใช้การลงนามด้วย e-Signature ซึ่งจะช่วยให้สะดวก รวดเร็ว รวมทั้งช่วยสร้างข้อมูลแบบอัตโนมัติ ลดภาระในการจัดทำข้อมูลต่าง ๆ
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ร่วมกับผู้พัฒนาระบบและผู้ให้บริการระบบ (main operator) ซึ่งประกอบด้วยสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) สมาคมธนาคารไทย (TBA) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ workshop สำหรับรวบรวมประเด็นปัญหาและความต้องการของผู้ใช้งาน
เพื่อนำไปออกแบบและพัฒนาระบบร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมตราสารหนี้ รวมทั้งสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อจะนำเข้าทดสอบกับผู้ใช้งานจริงภายใต้โครงการทดสอบระบบภายใต้สภาพแวดล้อมที่จำกัดความเสี่ยง หรือโครงการ Sandbox ของ ก.ล.ต. ต่อไป โดยจะเปิดให้ผู้ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการทดสอบสมัครเข้าร่วมได้ในช่วงไตรมาส 4
โดยในอนาคตหาก ก.ล.ต. เห็นว่าระบบมีความครบถ้วนสมบูรณ์และครอบคลุมการให้บริการตราสารหนี้ทุกประเภทแล้ว จะพิจารณาให้การยื่นขออนุมัติออกเสนอขายตราสารหนี้สามารถดำเนินการผ่านระบบ Web Portal แทนระบบ IPOS (Initial Product Offering System) ที่ ก.ล.ต. ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ issuer และผู้ประกอบธุรกิจ ได้รับความสะดวกจากกระบวนการรูปแบบใหม่ที่เป็นดิจิทัล
ในอนาคตกระบวนการออกเสนอขายตราสารหนี้จะได้รับการพัฒนาให้อยู่บนรากฐานดิจิทัลทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ลงทุนจะได้ประโยชน์จากการได้รับ digital bond ที่ซื้อขายสะดวก ลดระยะเวลาในการเตรียมตราสารหนี้ให้พร้อมซื้อขายในตลาดรองหลังจากการจองซื้อในตลาดแรกลงได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ระดมทุนได้รับเงินทุนเร็วขึ้น และผู้ลงทุนสามารถซื้อขายตราสารหนี้ได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ จะทำให้หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลและการพัฒนาธุรกิจตลาดทุน ซึ่งจะทำให้สามารถคุ้มครองผู้ลงทุนและทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น และในบทความครั้งถัดไปจะมาเล่าความคืบหน้าที่น่าสนใจให้ติดตามกันต่อไป