CRYPTOCURRENCY

Zipmex แจงผ่าน Town Hall ถึงกระบวนการยื่นขอพักชำระหนี้ และแผนในอนาคต

สรุปสาระสำคัญจากการประชุม Town Hall บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด วันที่ 14 กันยายน 2565

สืบเนื่องจากศาลสิงคโปร์กำหนดให้กลุ่มบริษัทซิปเม็กซ์ รวมถึงบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (“บริษัทฯ”) ต้องจัดประชุม Town Hall ตามเงื่อนไขการขอพักชำระหนี้ (Moratorium) ทำให้ในวันที่ 14 กันยายน 2565 บริษัทฯ มีการจัดประชุมดังกล่าว โดย ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง Zipmex Thailand ได้กล่าวเปิดประชุม Town Hall ว่า “ผมขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้งสำหรับการเข้าร่วมการประชุม Town Hall ในวันนี้ แม้ว่าบริษัทฯ จะมีการแจ้งข้อมูลให้ลูกค้าทราบอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรกตามคำสั่งของศาลสิงคโปร์ ที่บริษัทฯ เชิญลูกค้า และเจ้าหนี้ทั้งหมดเข้าร่วม ซึ่งลูกค้าหลายท่านอาจจะได้ฟังข้อมูลมาบ้างแล้ว ผมจึงขอใช้โอกาสนี้ในการอธิบาย และชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ตลอดจนสรุปประเด็นสำคัญให้ทุกท่านฟัง ถึงสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัทฯ รวมถึงขั้นตอนต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต”

โดย สาระสำคัญของการประชุม Town Hall สรุปได้ ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 การยื่นขอพักชำระหนี้คืออะไร และส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้อย่างไร

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ศาลสิงคโปร์ได้มีคำสั่งอนุมัติการขอขยายเวลาการพักชำระหนี้ของกลุ่มบริษัทซิปเม็กซ์ทั้ง 5 บริษัท โดยให้มีผลไปจนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2565

การพักชำระหนี้ส่งผลหลายประการต่อเจ้าหนี้ ดังนี้

  • กลุ่มบริษัทมีระยะเวลาพอสมควรในการเสนอแผนการปรับโครงสร้าง
  • เจ้าหนี้ไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายหรือเรียกร้องใด ๆ ต่อกลุ่มบริษัทในช่วงเวลาดังกล่าว
  • มีผลบังคับใช้กับบุคคลใด ๆ ในประเทศสิงคโปร์ ตลอดจนเจ้าหนี้ที่อยู่ต่างประเทศ
  • ศาลสามารถที่จะอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ได้

ทั้งนี้ การได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องจำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างของซิปเม็กซ์

ประเด็นที่ 2 การตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการการขอพักชำระหนี้ และข้อมูลอัปเดตสำคัญจากซิปเม็กซ์

ซิปเม็กซ์ได้ดำเนินการ 5 ขั้นตอนหลัก เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. การกลับมาเปิดให้บริการ Wallet

  • ตั้งแต่ซิปเม็กซ์ระงับการถอนสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ซิปเม็กซ์ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถกลับมาเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลใน Wallet และบริการต่าง ๆ ได้ และได้มีการทยอยโอนสินทรัพย์ดิจิทัลบางรายการให้กับลูกค้าที่มีสินทรัพย์อยู่ใน Z Wallet ได้แก่ SOL, XRP, ADA, ETH, BTC, ZMT และ LTC
  • กลุ่มบริษัทกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถกลับมาใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ และจะเปิดให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยน (trading) บางส่วนในประเทศอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย เร็วๆ นี้

    2. การให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับหน่วยงานกำกับดูแลในทุกประเทศที่เราเปิดให้บริการ

    • ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทมีการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานกำกับดูแลในทุกประเทศที่ให้บริการ ทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. ประเทศไทย Monetary Authority of Singapore (MAS) ประเทศสิงคโปร์ และ Bappebti ประเทศอินโดนีเซีย

3. การเปิดรับโอกาสในการลงทุนต่าง ๆ 

    • หนึ่งในแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ เพื่อสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า และเจ้าหนี้ของซิปเม็กซ์ คือการระดมทุน ซึ่งถือว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซิปเม็กซ์ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากถึง 4 ราย และได้มีการทำข้อตกลงร่วมกัน ทั้งในรูปแบบของบันทึกข้อตกลง MOU และ ข้อเสนอแบบไม่ผูกมัด (Non-Binding Offer: NBO) หรือข้อกำหนดแบบไม่ผูกพัน (Non-Binding Term Sheet)
  • นอกจากนี้ ซิปเม็กซ์กำลังสรุปข้อสัญญากับนักลงทุน 3 ราย ก่อนที่การทำ Due Diligence หรือการสอบทานบริษัทฯ จะเสร็จสมบูรณ์ โดยตอนนี้ ซิปเม็กซ์คอยติดตามนักลงทุนทั้ง 3 ราย อย่างใกล้ชิด และจะตัดสินใจเลือกว่านักลงทุนรายใดจะได้ร่วมลงทุนในเร็ว ๆ นี้

4. การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

    • ในส่วนของลูกค้า ซิปเม็กซ์ยืนยันว่าความโปร่งใสในการดำเนินงานคือสิ่งสำคัญที่สุด โดยเรามีการรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางของเรา ทั้งบนโซเชียลมีเดีย อีเมล และเว็บไซต์ของซิปเม็กซ์ รวมถึงการไลฟ์เป็นประจำ เพื่อให้ข้อมูลอัปเดตแก่ลูกค้าเป็นระยะ ๆ นอกจากนั้น เรายังให้บริการลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันผ่าน Live Chat และอีเมล

5. การแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน และที่ปรึกษากฎหมาย

ซิปเม็กซ์ ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาผู้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ที่ปรึกษากฎหมายของประเทศไทย: Kudun & Partners
  • ที่ปรึกษากฎหมายของประเทศสิงคโปร์: Morgan Lewis Stamford LLC
  • ที่ปรึกษากฎหมายของประเทศอินโดนีเซีย: Hiswara Bunjamin & Tandjung และ
  • ที่ปรึกษาทางการเงิน: KordaMentha

ประเด็นที่ 3 แผนการจัดการ (Scheme of Arrangement) คืออะไร และสาระสำคัญของแผนการปรับโครงสร้างที่นำเสนอ

แผนการจัดการ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่ของซิปเม็กซ์ เพื่อให้กลุ่มบริษัทสามารถกลับมาประกอบกิจการได้เต็มศักยภาพ และสามารถเยียวยาเจ้าหนี้ได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับกระบวนการอื่น ๆ

สำหรับกระบวนการโดยทั่วไปของแผนการจัดการ มีดังนี้

  1. ซิปเม็กซ์ยื่นคำร้องขอพักชำระหนี้ต่อศาลเพื่อให้ได้รับการพักชำระหนี้
  2. ซิปเม็กซ์จัดทำและเสนอแผนการปรับโครงสร้างหนี้
  3. ศาลอนุมัติให้ซิปเม็กซ์ดำเนินการจัดประชุมเจ้าหนี้
  4. ผู้ทำแผนจะประกาศให้แก่เจ้าหนี้ทราบ และเปิดให้เจ้าหนี้ยื่นคำร้อง เพื่อให้เจ้าหนี้ลงคะแนนในแผนการปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป
  5. หลังจากนั้น ซิปเม็กซ์จะได้รับคำสั่งจากศาล โดยขั้นตอนนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้แผนการปรับโครงสร้างหนี้นั้นมีผลบังคับใช้
  6. ผู้ทำแผนจะทำงานร่วมกับกลุ่มบริษัทเพื่อดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างหนี้

 

ขณะนี้ กลุ่มบริษัทซิปเม็กซ์อยู่ในขั้นตอนที่ 2 ซึ่งเป็นการจัดทำและเสนอแผนการปรับโครงสร้างหนี้ (หรือ จัดทำเอกสารสำหรับแผนการจัดการ) ดังนั้น กลุ่มบริษัทยังคงต้องดำเนินการในขั้นต่อไปอีกหลายขั้นตอน อย่างไรก็ดี กลุ่มบริษัทจะพยายามอย่างสุดความสามารถในการรายงานข้อมูลความคืบหน้าเพิ่มเติมต่อไป ในระหว่างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้นี้

ในส่วนของขั้นตอนต่อไปในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ เมื่อซิปเม็กซ์ มั่นใจว่าจะมีการลงทุนเกิดขึ้นแล้ว ทีมซิปเม็กซ์จะทำงานร่วมกับที่ปรึกษากฎหมาย และที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อจัดทำแผนปรับโครงสร้าง และนำมาให้เจ้าหนี้พิจารณาให้การสนับสนุนต่อไป

ประเด็นที่ 4 ช่องทางการติดต่อสื่อสาร

บริษัทฯ ทราบดีว่าบรรดาเจ้าหนี้ และลูกค้าของซิปเม็กซ์ อาจมีคำถามเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างและการดำเนินงานต่อไปของซิปเม็กซ์ ทีมงานซิปเม็กซ์พร้อมตอบคำถามของท่าน แต่เนื่องด้วยบริษัทฯ ได้รับคำถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก ขอให้ท่านเข้าใจ และโปรดอดทนรอการตอบกลับ ในการนี้ ซิปเม็กซ์ได้สรุปวิธีการต่าง ๆ ในการสื่อสารกับซิปเม็กซ์ ดังต่อไปนี้

  • ระบบ Live Chat บนเว็บไซต์ของซิปเม็กซ์
  • อีเมล และ Facebook
  • ประกาศต่าง ๆ และส่วนคำถามทั่วไป (FAQ) บนเว็บไซต์ของซิปเม็กซ์
  • โซเชียลมีเดีย
  • แบบส่งคำถามออนไลน์

นอกจากนี้ ท่านสามารถติดต่อที่ปรึกษาทางการเงินบริษัท KordaMentha ได้ที่อีเมล zipmex@kordamentha.com

 

ใส่ความเห็น