“บล.พาย”คาดการณ์สัปดาห์นี้หลักๆ เน้นที่เงินเฟ้อไทยและสหรัฐ รวมถึงเลือกตั้งสหรัฐฯ
บทวิเคราะห์จาก บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) หรือ “Pi” “พาย” ตลาดหุ้น Dow Jones คืนวันศุกร์ปรับขึ้น 1.26% หลังจากสหรัฐฯรายงานอัตราการว่างงานที่สูงกว่าตลาดคาดการณ์ (คาด 3.6% ออกมาที่ 3.7%) ด้านราคาน้ำมันดิบ BRT ปรับขึ้น 4.1% ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์และข่าวจีนอาจจะเตรียมเปิดประเทศ
ภาพรวมวันศุกร์ค่อนข้างเป็นสัญญาณบวกจากหลายๆตัวเลข อาทิ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 และ 10 ปีปรับลงพร้อมกับการอ่อนค่าอย่างมีนัยยะของ Dollar Index แม้สหรัฐฯจะรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าตลาดคาดการณ์ไว้
แต่ปรากฏว่าอัตราการว่างงานสูงกว่าที่ตลาดคาด และหากพิจารณาใส้ในของการจ้างงานจะพบว่าการจ้างงานในภาคส่วนที่เพิ่มขึ้นในจำนวนที่ลดลงได้แก่ (1) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (2) การให้บริการทางธุรกิจ (3) การศึกษาและธุรกิจการแพทย์ (4) ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
ซึ่งหากพิจารณาเงินเฟ้อสหรัฐฯในเดือนกันยายนพบว่าอุตสาหกรรมที่เงินเฟ้อยังเร่งขึ้นต่อเนื่องได้แก่ (1) ยานยนต์ใหม่ (2) การให้บริการด้านการแพทย์ จึงเชื่อด้วยการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในจำนวนที่ลดลงในอุตสาหกรรมที่เงินเฟ้อยังเร่งตัวประกอบกับอัตราการว่างงานสูงขึ้นกว่าตลาดคาดไว้จึงทำให้ตลาดผ่อนคลายกับภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ย
ล่าสุด CME FED WATCH คาดว่าที่ประชุม FED เดือน ธ.ค. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.5% ด้วยน้ำหนัก 52% ขณะที่อีก 48% ให้น้ำหนักขึ้นดอกเบี้ย 0.75% โดยปัจจัยที่ตลาดจะไปให้น้ำหนักในสัปดาห์นี้ได้แก่เงินเฟ้อสหรัฐฯในวันพฤหัสบดี ทราบผลราวช่วง 20.30 ตามเวลาประเทศไทย Bloomberg คาดที่ 8%YoY 0.6%MoM
ทั้งนี้ หากต่ำกว่าคาดจะยิ่งเป็นปัจจัยกดดัน Dollar Index หนุนสินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวต่อเนื่องและเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่องหนุน Fund Flow เข้าต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด Bloomberg รายงานว่าในปี 2022 มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้าไทยเกินกว่าเป้าหมายที่ 10 ล้านคนและมีโอกาสที่ปี 2023 อาจจะถึง 18 ล้านคน โดยมีนักท่องเที่ยวจีนเป็น Upside
ดังนั้นจะยิ่งส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเป็นบวกและเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยในประเทศเน้นที่ (1) เงินเฟ้อไทย Bloomberg คาดที่ 6%YoY หากต่ำกว่าคาดจะยิ่งหนุนบาทแข็งค่า (2) ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน 3Q22 ประเมิน SET INDEX สัปดาห์นี้ 1610 – 1650 เชิงกลยุทธ์การลงทุนยังเน้นหุ้นขนาดใหญ่เกาะกับกระแส Fund Flow อาทิ
ธนาคาร (BBL KBANK SCB TTB TISCO) ค้าปลีก (BJC CRC CPALL HMPRO) น้ำมัน (PTTEP) ท่องเที่ยว (AOT MINT SPA) สื่อสาร (ADVANC INTUCH) พร้อมแนะทยอยสะสมโรงไฟฟ้า (BGRIM GPSC) รับกระแสดอกเบี้ยกำลังใกล้เข้าสู่จุดสูงสุด
MINT (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 36.00 บาท) ประเมินว่าประมาณการกำไรสำหรับปี 2023-24 มี downside ไม่มากนัก คาดแนวโน้มการฟื้นตัวของกำไรจะเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2022 ไปตลอดทั้งปี 2023 ด้วยเหตุนี้จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” แต่ลดราคาเป้าหมายลงจาก 41.00 บาท เป็น 36.00 หลังจากปรับลดประมาณการกำไรปี 2023 ลง 23% เพื่อสะท้อนต้นทุนสาธารณูปโภคและอาหารที่สูงขึ้น
KCE (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 69.00 บาท) เชื่อว่าราคาหุ้นที่ลดลง 47% YTD เป็นโอกาสในการทยอยสะสม ปัจจุบันหุ้นซื้อขายเพียง 19.27xPE’23E, ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยคู่แข่งในไทยที่ 33.4xPE’23E