EXIM BANK ประกาศจุดยืนและ บทบาท ใหม่ เป็นธนาคารที่กล้า พัฒนาธุรกิจไทยและประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในเวทีโลก ด้วย 3 เครื่องมือใหม่เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ
เริ่มต้นจากบริการสร้างตัวตนแบบครบวงจรให้ SMEs ไทยในเวทีโลก บริการสร้างโอกาสการลงทุนในต่างแดน โดยเฉพาะ New Frontiers รวมถึง CLMV ต่อด้วยบริการยกระดับธุรกิจไทยสู่ BCG Model มุ่งสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำตามนโยบายรัฐบาล โดยตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อคงค้างเป็น 300,000 ล้านบาทภายในปี 2570
วางบทบาทใหม่กล้าพัฒนาเพื่อคนไทย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงานประกาศจุดยืนและ บทบาท ใหม่ “EXIM BANK รวมพลคนกล้า พัฒนาเพื่อคนไทย” และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ถอดรหัสความกล้า พลิกโฉมประเทศไทยในเวทีโลก”
โดยมี ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยอดีตกรรมการและอดีตผู้บริหาร EXIM BANK ผู้บริหารธนาคาร หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ลูกค้า ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คาดว่าเศรษฐกิจและการส่งออกขยายตัว 3.4% และ 8.1% ตามลำดับ
การส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยในไตรมาสสุดท้ายปีนี้มีสัญญาณชะลอตัว แต่กระนั้น ยังคงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยอาศัยบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งการขยายบทบาทของ EXIM BANK ในการผลักดันให้เกิดมูลค่าการค้าและการลงทุนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ต้องอาศัยการพัฒนารากฐานภายในประเทศ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบที่เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศการค้าการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ บรรยากาศส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต
สอดรับกับเมกะเทรนด์โลก ประกอบกับการเร่งสร้าง Entrepreneurship DNA ให้คนไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการเติมความกล้าที่จะไม่จำกัดอยู่แค่ตลาดภายในประเทศ กล้าบุกตลาดโลกที่มีโอกาสใหม่ ๆ อีกมาก และใช้จุดแข็งของกิจการต่อยอดและสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง
เดินหน้าหนุนอุตสาหกรรมไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอย่าง EXIM BANK เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตลอด Supply Chain ให้เติบโตได้มั่นคงและยั่งยืน
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ได้ ต้องใช้ “ความกล้า” เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดมิติใหม่ขององค์ความรู้ โอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน เครือข่ายธุรกิจ การถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง
โดยเฉพาะคนตัวเล็ก ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา วิสาหกิจชุมชน และ SMEs ให้สามารถปรับตัวให้ก้าวทันโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กระแสรักษ์โลก และความยั่งยืน และผู้ประกอบการไทยต้องกล้าเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) ตัวตน (Identity) และโมเดลธุรกิจ (Business Model)
ธุรกิจควรต้องปรับเปลี่ยนโมเดล
ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร EXIM BANK กล่าวว่า โลกหลังโควิด-19 ได้เปลี่ยนไปอย่างพลิกโฉม ทั้งสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้โมเดลธุรกิจและแผนธุรกิจขององค์กรต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เพื่อแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นในมิติต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คนตัวเล็กอย่างเศรษฐกิจฐานรากและ SMEs ต้องล้มหายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ได้เกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนขึ้นซ้ำเติมให้วิกฤตเงินเฟ้อลุกลามไปทั่วโลก
หลายประเทศ รวมทั้งไทย ต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จนอาจลืมปัญหาเชิงโครงสร้างหรือปัญหาระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นข้างหน้า โดยเฉพาะวิกฤตโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำในสังคม และปัญหาคุณภาพชีวิตต่าง ๆ จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วน
รวมทั้ง EXIM BANK ต้องร่วมมือกัน ขยาย บทบาท ให้สามารถเป็นหนึ่งในกลไกของภาครัฐที่จะขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
มุ่งสร้างนักรบเศรษฐกิจไทย
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า จากปัญหาในเชิงโครงสร้างของประเทศไทยที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเก่า อาทิ รถยนต์สันดาป คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการส่งออกรวม การส่งออกสินค้าไฮเทคมีเพียง 27% และอยู่ระหว่างการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม BCG
ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่ง 90% ของประชากรทั้งประเทศมีเงินออมอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ผู้ประกอบการภายในประเทศส่วนใหญ่ยังไม่กล้าออกไปค้าขายหรือลงทุนในตลาดต่างประเทศ จำกัดอยู่ในธุรกิจเดิม ๆ เช่น อาหาร เกษตร และท่องเที่ยว มีเพียงส่วนน้อยที่สามารถสร้างแบรนด์ไทยให้ติดตลาดโลกได้
สร้าง3เครื่องมือใหม่ช่วยหนุน
EXIM BANK จึงขานรับนโยบายของกระทรวงการคลัง เดินหน้าขยายบทบาทการเป็นผู้นำ (Lead Bank) ที่ “กล้า พัฒนาเพื่อคนไทย (One Step Ahead for All Development)” สร้างนักรบเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในเวทีโลก โดยใช้ 3 เครื่องมือใหม่ ได้แก่
- บริการสร้างตัวตนแบบครบวงจรให้ SMEs ไทยในเวทีโลก ด้วยเครื่องมือทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน ตั้งแต่การให้ข้อมูล บ่มเพาะ อบรมสัมมนา และให้บริการทางการเงินที่ครบถ้วน เพื่อช่วยให้เกษตรกรรุ่นใหม่ วิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ และผู้ประกอบการรายย่อย สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองจาก Nobody เป็น Somebody ในตลาดโลกได้
- บริการสร้างโอกาสการลงทุนในต่างแดน มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางที่มีศักยภาพ (Amazing M) ในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างฐานการผลิตและขยายเครือข่ายทางการค้า
- บริการยกระดับธุรกิจไทยสู่ BCG Model มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำตามนโยบายรัฐบาล สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยตั้งแต่รายย่อย รายกลาง ไปจนถึงรายใหญ่ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ร่วมขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจ BCG ในประเทศไทย เชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลก โดย EXIM BANK พร้อมสนับสนุนด้านเงินทุนและพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนธุรกิจ BCG ของไทย
เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา EXIM BANK ได้ดำเนินบทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กรในปี 2536 และเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2537
เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา EXIM BANK ได้มีบทบาทชัดเจนขึ้นในการ “รับความเสี่ยง” “ให้กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่” และ “หนุนทุนไทยไปต่างแดน” ด้วยปณิธานของความ “กล้า” ที่จะสนับสนุนความฝันของคนไทยและประเทศไทยให้เป็นจริง
“กล้า”เพื่อสนับสนุนไทยโตยั่งยืน
ความกล้าปรับเปลี่ยนองค์กร (Transformation) ของ EXIM BANK อาทิ การใช้มาตรฐานทางการเงินใหม่อย่าง IFRS9 ซึ่งนับเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) แห่งแรกที่นำหลักเกณฑ์มาตรฐานทางบัญชี IFRS9 มาใช้
การปรับ Portfolio ให้มีความสมดุล รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งการขยายบทบาทสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับ BCG อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม และอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มสูง
การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้รุกไปยังตลาดใหม่ (New Frontiers) เพื่อสร้างสมดุลระหว่างตลาดหลักและตลาดใหม่ การสนับสนุนผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ รวมทั้ง “บุคคลธรรมดา” ให้เข้าสู่ Supply Chain การส่งออกได้ ด้วยนวัตกรรม “สินเชื่อสร้างธุรกิจเพื่อบุคคลธรรมดา”
สร้างโครงการช่วยเพิ่มโอกาส
โครงการ Top Executive Program เพื่อพัฒนาและต่อยอดให้ธุรกิจไทยเติบโตบนเวทีโลก โดยความร่วมมือกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล และ 3 สภาธุรกิจสำคัญของประเทศ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
โครงการ EXIM Thailand Pavilion ร้านค้าออนไลน์ของ EXIM BANK บน E-Commerce ชั้นนำของโลก เพื่อเป็นทางลัดให้ SMEs ไทยเข้าสู่การค้าโลกได้อย่างรวดเร็ว นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจที่เปลี่ยนไป
อาทิ EXIM Solar Orchestra เงินทุนติดตั้ง Solar Rooftop ในโรงงาน พร้อมเชื่อมโยง Ecosystem ตลาดคาร์บอนครบวงจร EXIM Green Bond ซึ่งเป็น SFI แห่งแรกที่ออกพันธบัตรระยะยาวอ้างอิง THOR (Thai Overnight Repurchase Rate)
EXIM Biz Transformation Loan เงินทุนช่วยยกระดับธุรกิจ ดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี EXIM Shield Financing เงินทุนครบวงจร จ่ายทีเดียวได้ทั้งเงินทุนและความคุ้มครองทางการค้า และอยู่ระหว่างพัฒนาสินเชื่อ E-Commerce Financing สนับสนุนผู้ประกอบการที่ค้าขายออนไลน์
ระบบ Credit Scoring ใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อช่วยให้การอำนวยสินเชื่อของ EXIM BANK รวดเร็วขึ้น การจัดทำ EXIM Index เครื่องมือชี้วัดทิศทางการส่งออกของไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้า เพื่อเป็นเข็มทิศให้กับผู้ส่งออกใช้ในการวางแผนและปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เหมาะสม
โฟกัสสู่ความยั่งยืนด้วยสมการ4P
ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK กล้าเปลี่ยนโมเดลธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้วยสมการ 4P โดยให้ความสำคัญกับคน (People) เป็นอันดับแรก เริ่มต้นจากพนักงาน มุ่งสร้าง Empathic Workplace ให้สะท้อนผลการให้บริการที่ดีไปสู่ลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะคนตัวเล็กในโลกธุรกิจ ตลอดจนผู้คนในชุมชนและสังคม
ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงโลก (Planet) โดยการสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะ สร้างโลกที่ดีขึ้น บวกกับความมุ่งมั่นให้บริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงสุด (Productivity) ไม่ว่าจะเป็นบริการที่รวดเร็ว เข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน และสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า (Value Proposition)
ซึ่งการขับเคลื่อนด้วยโมเดลธุรกิจดังกล่าวจะช่วยสร้างกำไร (Profit) และการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร พร้อมกับสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเติบโตไปด้วยกัน (Inclusive Growth) โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
แจงผลงาน9เดือนแรกของปี
สำหรับผลการดำเนินงานเดือนมกราคม–กันยายน 2565 EXIM BANK สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินและไม่ใช่การเงินได้อย่างครบวงจร ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนในหลายมิติ
ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 EXIM BANK มีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 51,243 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นวงเงินของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 12,961 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
และมีสินเชื่อคงค้าง 159,816 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,137 ล้านบาท หรือ 8.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ณ 20 ตุลาคม 2565 สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 162,513 ล้านบาท คาดว่าภายในปี 2565 จะทะลุ 165,000 ล้านบาท สูงที่สุดตั้งแต่เปิดดำเนินงาน โดย EXIM BANK ตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อคงค้างเป็น 300,000 ล้านบาทภายในปี 2570
ยอดสินเชื่อคงค้างขยับเพิ่ม
ด้วยบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาที่มุ่งสนับสนุนการพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อที่สนับสนุนความยั่งยืน 43,899 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 23.05% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อเดือนกันยายน 2565
EXIM BANK ได้มีการเสนอขายพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) 2 รุ่น มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท เพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนสินเชื่อ ให้แก่โครงการพลังงานสะอาด พร้อมทั้งทำหน้าที่ Lead Bank สานพลังกับเครือข่ายพันธมิตร นำพาผู้ประกอบการไทยขยายการค้าการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศทั้งสิ้น 68,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,789 ล้านบาท หรือ 4.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เมื่อจำแนกเป็นรายตลาดที่สำคัญ EXIM BANK สนับสนุนธุรกิจไทยให้ขยายไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และตลาดใหม่ (New Frontiers) ที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง มีสินเชื่อคงค้าง CLMV และ New Frontiers 54,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,602 ล้านบาท หรือ 13.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจรับประกันการส่งออกโตขึ้น
ในการสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยผ่านบริการประกัน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุน 138,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งด้านสินเชื่อและประกัน ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 EXIM BANK มีจำนวนลูกค้าอยู่ที่ 5,788 ราย เพิ่มขึ้นถึง 23.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นลูกค้า SMEs มากถึง 84.12% สะท้อนความสำเร็จในการสนับสนุนธุรกิจ SMEs ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ EXIM BANK ยังช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งด้านการเงินผ่านการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับด้านไม่ใช่การเงินด้วยการบ่มเพาะและพัฒนาองค์ความรู้อย่างรอบด้าน เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการราว 19,800 ราย ด้วยวงเงินรวมกว่า 88,200 ล้านบาท
บริหารNPLลดลงอย่างต่อเนื่อง
EXIM BANK ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทางการเงินเพื่อผลการดำเนินงานที่ยั่งยืน โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 4,773 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 เท่ากับ 2.99% ลดลง 0.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 12,714 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 266.36%
ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 EXIM BANK มีกำไรก่อนสำรอง 2,023 ล้านบาท และกำไรสุทธิเท่ากับ 930 ล้านบาท
หนุนผู้ประกอบการมุ่งสู่โมเดลBCG
“EXIM BANK กล้า พัฒนาเพื่อคนไทย เป็นจุดยืนของ EXIM BANK ที่ก้าวไปสู่โลกยุค Next Normal ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนไทย วาง บทบาท และทำหน้าที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐโดยตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า ผู้ประกอบการ และประชาชน
เริ่มตั้งแต่ความกล้าสร้างตัวตนผู้ประกอบการต้นน้ำ ผลักดันผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพให้บุกตลาดต่างแดนมากขึ้น และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยทุกระดับให้มุ่งสู่โมเดลธุรกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
บรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก โดยใช้ความเชี่ยวชาญและความพร้อมของบุคลากรในการพัฒนาเครื่องมือและรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและเดินไปด้วยกันกับลูกค้า ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน” ดร.รักษ์ กล่าว