ลืมตาอ้าปาก’ แก้อาการโตช้าของรายได้ภาคเกษตรด้วย AgriTech และกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ประเมินรายได้ของครัวเรือนเกษตรในภาคเกษตรกำลังเติบโตแบบ “อ่อนแรงลง” โดยครัวเรือนเกษตรพึ่งพารายได้มาจากทั้งการทำการเกษตรและการทำงานนอกภาคเกษตร ในช่วงปี 1990 – 2001 พบว่ารายได้จากภาคเกษตรเติบโตในระดับที่สูงถึง 7.0% ต่อปี
แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2001 – 2010 ระดับการเติบโตปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 5.9% ต่อปี และลดลงต่อเนื่องจนมาอยู่ที่ระดับ 2.9% ต่อปี ในช่วงปี 2010 – 2020 สวนทางกับการเติบโตของรายได้นอกภาคเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งรายได้ที่เติบโตช้าลงดังกล่าว
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเนื้อที่ทำการเกษตรของไทยที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรส่วนใหญ่เข้าสู่แรงงานสูงอายุ รวมไปถึงผลผลิตต่อไร่และราคาผลผลิตที่เกษตรกรได้รับที่อยู่ในระดับทรงตัว
รายได้ภาคเกษตรที่เติบโตลดลง เป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตรในระยะข้างหน้า
อุตสาหกรรมเกษตรไทยจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือการปรับการผลิตให้มีความยั่งยืน โดยความสามารถในการปรับตัว
ของเกษตรกรต้นน้ำ คือหัวใจสำคัญที่จะบ่งชี้ว่า อุตสาหกรรมเกษตรไทยจะสามารถปรับตัวได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี รายได้ภาคเกษตรที่เติบโตแบบ “อ่อนแรงลง” กำลังฉุดรั้งความสามารถในการปรับตัวของครัวเรือนเกษตร เนื่องจากครัวเรือนที่ยังคงมีปัญหาหนี้สิน จะขาดแรงจูงใจและศักยภาพในการลงทุนเพื่อปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
3 แนวทางสำคัญในการเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรให้ครัวเรือนเกษตรไทย
การเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรให้ครัวเรือนเกษตรไทย สามารถทำได้ผ่าน 3 แนวทางสำคัญ ดังต่อไปนี้ 1) การเพิ่มปริมาณผลผลิต ผ่านการยกระดับผลผลิตต่อไร่ 2) การปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูงและ 3) การยกระดับราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรได้รับ
ประยุกต์ใช้ AgriTech เพื่อเพิ่มผลผลิตและราคาที่เกษตรกรได้รับ
AgriTech หรือเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ กำลังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์ม ตั้งแต่การเพาะปลูก ไปจนถึงการตลาด โดย SCB EIC พบว่า ตัวอย่าง AgriTech ที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการช่วยยกระดับผลผลิตและราคาที่เกษตรกรได้รับในไทย
ประกอบด้วย การใช้โดรนทำการเกษตร (Drone farming) การส่งเสริมการเกษตรผ่านระบบดิจิทัล (Digital agricultural extension) แพลตฟอร์มเกษตรดิจิทัล (Digital agriculture platform) และเทคโนโลยีการเงินสำหรับเกษตร (Agri-Fintech)
ปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชมูลค่าสูง ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์
ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรมูลค่าสูง เช่น ผักและผลไม้ กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ สอดคล้องกับเทรนด์รักสุขภาพและการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรายย่อยยังไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของตลาดสินค้าเกษตรมูลค่าสูงมากนัก เนื่องจากยังมีขีดจำกัดในการผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพสูงตามที่ตลาดต้องการ โดยกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์
ซึ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแนวนอนและแนวดิ่งของผู้เล่นในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรและองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่หนึ่งๆ จะสามารถช่วยให้เกษตรกรและผู้แปรรูปสินค้าเกษตรเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรมูลค่าสูงได้ ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูล และกลไกการทำงานร่วมกัน (Collective actions) ซึ่ง SCB EIC พบว่า แนวทางดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาเกษตรมูลค่าสูงในหลายประเทศ
ศักยภาพการเพิ่มรายได้ของ AgriTech และกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์
SCB EIC พบว่า AgriTech และการพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ มีศักยภาพที่จะช่วยเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรราว 9.4 แสนล้านบาท ภายในปี 2030 โดยกว่า 7.4 แสนล้านบาท เป็นผลจากการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชมูลค่าสูง ในขณะที่การเพิ่มปริมาณผลผลิตจะมีศักยภาพในการเพิ่มรายได้เพียง 1.9 แสนล้านบาท
เนื่องจากการเพิ่มปริมาณผลผลิตจะทำได้อย่างจำกัด ตามความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรในปี 2030 ในขณะที่การเพิ่มราคาจะมีศักยภาพในการเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรราว 0.2 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อนำศักยภาพในการเพิ่มรายได้มาหารเฉลี่ยต่อครัวเรือน จะพบว่า ภายในปี 2030 รายได้ครัวเรือนเกษตรจากภาคเกษตรจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 67.2% เมื่อเทียบกับปี 2020
การใช้ AgriTech และกลยุทธ์การพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ให้ประสบความสำเร็จ
การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ AgriTech อย่างแพร่หลายในไทย ถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างมาก ทั้งในระดับของเกษตรกรและผู้ให้บริการ AgriTech โดยจากประสบการณ์ในต่างประเทศ ชี้ให้เห็นว่า การส่งเสริมให้เกิดการใช้ AgriTech อย่างแพร่หลาย จะต้องมีปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่
1) การส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการด้าน AgriTech แก่เกษตรกร แทนการให้เกษตรกรครอบครองเทคโนโลยีเอง 2) การใช้บริการ AgriTech จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรอย่างชัดเจน กล่าวคือ ผู้ให้บริการ AgriTech จะต้องมีตัวชี้วัด ที่ทำให้เกษตรกรเห็นว่า การใช้บริการ AgriTech สามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้จริง 3) จะต้องมีคนกลาง
ในพื้นที่ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรคอยช่วยสนับสนุนการใช้ AgriTech แก่เกษตรกร สำหรับการพัฒนาคลัสเตอร์เกษตรมูลค่าสูงให้ประสบความสำเร็จนั้น SCB EIC พบว่า คลัสเตอร์เกษตรมูลค่าสูงที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ มีคุณลักษณะร่วมกันหลายประการ
เช่น สินค้าเกษตรมูลค่าสูงส่วนใหญ่จะเน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยมีความเป็นผู้ประกอบการ มีการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรอยากเข้าร่วมในคลัสเตอร์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการพัฒนาคลัสเตอร์ เป็นต้น
ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคมจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยยกระดับรายได้ภาคเกษตร
ภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างธุรกิจที่ให้บริการ AgriTech แก่เกษตรกร รวมถึงมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการนำเกษตรกรไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรมูลค่าสูงในตลาดโลก ในขณะที่ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรมีการหันมาใช้ AgriTech เข้าร่วมในคลัสเตอร์และปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนไปปลูกพืชมูลค่าสูง
ส่วนภาคประชาสังคม จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เกษตรกรเกิดความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของ AgriTech และการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันจนสามารถยกระดับรายได้จากภาคเกษตรได้ ก็จะช่วยยกระดับรายได้ครัวเรือนในชนบท ช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับสังคมไทย และช่วยให้อุตสาหกรรมเกษตรไทยสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน