FINANCE NEWS SPECIAL

SCB EIC คาด กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง และคงดอกเบี้ยที่ระดับ 2% ตลอดปี 66

KEY POINTS 

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.5% ต่อปี เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่การส่งออกสินค้าชะลอตัวในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปีหน้าตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กนง. เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

กนงประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องและมีแนวโน้มดีขึ้น

ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเร็วขึ้นตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานและการกระจายรายได้ของลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีจำนวนมาก รวมทั้งเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ แต่จะฟื้นตัวในปี 67 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงด้านต่ำลดลง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักรวมถึงจีนที่ปรับดีขึ้น

กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น

แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานทยอยคลี่คลายตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงอีกระยะหนึ่งก่อนจะทยอยปรับลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้ง การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้น

กนง. ประเมินว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาวะการเงินผ่อนคลายลดลง

ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการสิ้นสุดมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) แต่ปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว ขณะที่ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ชะลอลง และการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางของจีนที่จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวไทย

IMPLICATIONS

SCB EIC คาด กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 2% ในปีนี้ กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมเดือนมีนาคมและเดือนพฤษภาคม 66 ครั้งละ 0.25% และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ตลอดปีนี้ เพื่อให้นโยบายการเงินค่อย ๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดย SCB EIC คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 66 จะขยายตัวได้ 3.4% จากแรงส่งสำคัญของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาดของจีนส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง และจะทำให้การบริโภคมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้มีแนวโน้มไม่สดใสนัก โดยเริ่มเห็นการหดตัวของมูลค่าการส่งออกไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 65 (รูปที่ 1) ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง การส่งออกในปีนี้อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าใหม่ของประเทศคู่ค้าสำคัญ[1] ได้แก่ ยุโรปและอินเดีย ซึ่งจะเริ่มมีผลบางส่วนตั้งแต่ปีนี้ ทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าไทยอาจขยายตัวต่ำเหลือเพียง 1.2% ในปี 66

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 66 มีแนวโน้มชะลอลง แต่จะยังอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 65 ขยายตัวที่ 6.1% (รูปที่ 2) โดย SCB EIC คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับลดลงสู่ระดับ 3.2% ณ สิ้นปี 66 ซึ่งยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% จากราคาพลังงานในประเทศและราคาอาหารที่ยังสูง รวมถึงการเร่งตัวของเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้อาจเร่งตัวขึ้นเล็กน้อย เป็น 2.7% จาก 2.5% ในปี 65 จากผลของเงินเฟ้อที่ได้ขยายวงกว้างไปยังราคาสินค้าและบริการหมวดอื่นมากขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตได้ทยอยส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าของผู้บริโภคตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่อาจส่งผลให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์มากขึ้นได้ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น การเปิดประเทศของจีน สภาพอากาศโลกแปรปรวน การแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งอาจส่งผลให้มี Upside risk ต่ออัตราเงินเฟ้อได้

ค่าเงินบาทในปี 66 มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี นับตั้งแต่ต้นปี 66 ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วนำประเทศอื่นในภูมิภาค จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีนมาก โดยเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น 5.6% นับตั้งแต่ต้นปี (รูปที่ 3) และมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องในปีนี้ ตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ปรับดีขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดการเงินไทยต่อเนื่องตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในปีนี้ ตามการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะแข็งค่ามากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังสู่ระดับ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

บทวิเคราะห์โดย… https://www.scbeic.com/th/detail/product/policy-rate-
250123
.ผู้เขียนบทวิเคราะห์
ดร.ฐิติมา ชูเชิด (thitima.chucherd@scb.co.th)
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
ณิชนันท์ โลกวิทูล (nichanan.logewitool@scb.co.th)
นักวิเคราะห์
______
ECONOMIC AND FINANCIAL MARKET RESEARCH
ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ

รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence
Center และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน
วชิรวัฒน์ บานชื่น
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
จงรัก ก้องกำชัย
นักวิเคราะห์
ณิชนันท์ โลกวิทูล
นักวิเคราะห์
ปัณณ์ พัฒนศิริ
นักวิเคราะห์
วิชาญ กุลาตี
นักวิเคราะห์
ดร.อสมา เหลี่ยมมุกดา
นักวิเคราะห์

ใส่ความเห็น