นางสาวบุษบา กุลศิริธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC หนึ่งในผู้นำด้านสินเชื่อชั้นนำของประเทศ เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ ณ สิ้นปี 2565 (มกราคม – ธันวาคม 2565) มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 667 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 28% สาเหตุหลักของรายได้รวมที่เพิ่มขึ้นมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สินเชื่อรถทำเงิน สินเชื่อสวัสดิการ และรายได้อื่นๆ ซึ่งประกอบด้วย รายได้ค่านายหน้า รายได้ค่าธรรมเนียม เป็นหลัก
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อนุมัติการจ่ายปันผลเป็นเงินสด ในอัตรา 0.11 บาท/หุ้น กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) 28 เม.ย.นี้ และวันที่จ่ายปันผล 18 พ.ค. 2566 ตอบแทนผู้ถือหุ้นทันทีหลัง SGC ประสบความสำเร็จในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะเสริมความแข็งแกร่งในด้านแหล่งเงินทุนให้บริษัทฯ สามารถขยายการเติบโตด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกทั้ง เป็นการเสริมแกร่งเงินทุนให้บริษัทฯ สามารถขยายการเติบโตด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ พร้อมเดินหน้าในปี 2566 รับอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิดผ่อนคลาย ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีความต้องการด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสภาพคล่อง และนำไปใช้ขยายกิจการ เป็นโอกาสให้ SGC บุกตลาดรับโอกาสทองในปีนี้ โดยจะเน้นสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ภายใต้แบรนด์ “รถทำเงิน” มุ่งเน้นรถบรรทุกเป็นหลัก ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว และเป็นตลาดที่ SGC เชี่ยวชาญ รวมทั้ง การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
โดยแผนการดำเนินงานของ SGC หลังระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา SGC มุ่งสู่เป้าหมายพอร์ตสินเชื่อแตะระดับ 50,000 ล้านบาท ภายในปี 2569 หรือเติบโตต่อปีไม่ต่ำกว่า 32% จาก ณ สิ้นปี 2565 มีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 14,897 ล้านบาท และคาดสิ้นปี 2566 พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท พร้อมให้ความสำคัญในการอนุมัติสินเชื่ออย่างรัดกุม เพื่อควบคุม NPL ให้อยู่ในระดับต่ำ หรือวางเป้าไม่เกิน 5% ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรในอนาคตให้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ SGC ประกอบด้วย (1) สินเชื่อประเภทให้เช่าซื้อรถยนต์แบบโอนกรรมสิทธิ์เล่มทะเบียน และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (รถบรรทุก รถยนต์นั่ง ส่วนบุคคล รถยนต์เพื่อการพาณิชย์) ภายใต้แบรนด์ “รถทำเงิน” (2) สินเชื่อเช่าซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ในครัวเรือน (Home Appliances) เครื่องใช้ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (Commercial Appliances) (3) สินเชื่อสวัสดิการพนักงาน (Debt Consolidation) และ (4) สินเชื่ออื่นๆ