ดร. สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง เปิดเผยว่า ผลประกอบการประจำปี 2565 ยังแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 2,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน (2564) จำนวน 1,426 ล้านบาท หรือร้อยละ 141.2 รายได้จากการดำเนินงาน จำนวน 14,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จำนวน 3,304 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.8 โดยรายได้ค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น จำนวน 1,742 ล้านบาท รายได้ค่าโดยสารและรับจ้างเดินรถเพิ่มขึ้น จำนวน 1,463 ล้านบาท และรายได้พัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น จำนวน 99 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลดความรุนแรงลง อีกทั้งภาครัฐได้ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง รวมถึงการเปิดประเทศ ทำให้มีการเดินทางมากขึ้น ส่งผลให้ในปี 2565 ปริมาณผู้ใช้ทางด่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4 และผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.5 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ดร. สมบัติ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2565 ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ทยอยกลับมาเป็นปกติมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ส่งผลให้การเดินทางเพิ่มขึ้น ปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนและปริมาณผู้โดยสารกลับเข้าใกล้เคียงกับก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2566 ผู้ใช้ทางด่วน และผู้โดยสารยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นภายหลังประเทศจีนเปิดประเทศ และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น รายรอบรถไฟฟ้า และทางด่วน
ดร.สมบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา BEM ได้ดำเนินงานบนแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social and Governance) ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแลกิจการ เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจและดำเนินงานในการพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ทางด่วน และผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง สามารถใช้บัตรเครดิต EMV Contactless ชำระค่าบริการได้ และในปี 2565 ได้คงอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หลักสอง-ท่าพระ) ในราคาเดิม เริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท และให้ส่วนลดสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ 50% สำหรับนักเรียน นักศึกษา 10% ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน
นอกจากนี้ ในด้านการเงิน BEM ได้เข้าทำสัญญาสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Loan) วงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Debentures) มูลค่า 4,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยมียอดจองมากกว่าเป้าหมาย 2.6 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อธุรกิจและการให้ความสำคัญต่อธุรกิจขนส่ง ที่ใช้พลังงานสะอาด ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
ในปี 2565 BEM ได้รับคัดเลือกให้เป็น “หุ้นยั่งยืน” (Thailand Sustainability Investment) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ในกลุ่มบริการ และได้รับรางวัลสุดยอดแบรนด์องค์กรไทยในหมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากการเป็นองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดของประเทศไทยประจำปี 2565 และได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยในระดับดีเลิศ (Excellent CG Scoring หรือ ระดับ 5 ดาว) สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจให้เจริญเติบโต บนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล ซึ่งในปี 2566 BEM ยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจอย่างเข้มแข็งตามพันธกิจของบริษัทฯ ในการส่งมอบการบริการคมนาคมขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน