นายเอกราช พรรณสังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI ผู้รับจ้างผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึก (Human Food) ชั้นนำของประเทศ และเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงแมวและสุนัขที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า รายได้ปี 2565 อยู่ที่ 7,174 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากปีก่อนที่ทำได้ 5,057 ล้านบาท เช่นเดียวกับกำไรสุทธิของบริษัทก็เพิ่มขึ้น 34.4% โดยทำได้ 859 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 อยู่ที่ 653 ล้านบาท แต่อัตรากำไรสุทธิปรับลงเล็กน้อย 12.1% เทียบปีก่อน 12.8%
ทั้งนี้ รายได้ส่วนใหญ่เติบโตจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่ตลาดมีความต้องการและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปในประเภทกลุ่มอาหารแมว ขณะที่อุปสงค์ของผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึกเริ่มกลับมาหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และค่าขนส่งสินค้าทางเรือปรับตัวลง ขณะที่ปริมาณการขายก็เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนรายได้ อยู่ที่ 44,210 ตัน จากปี 2564 อยู่ที่ 37,777 ตัน
อย่างไรก็ดี สัดส่วนรายได้จากอาหารสัตว์เลี้ยงปี 2565 ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 85 % จากปี 2564 อยู่ระดับ 82 % และสัดส่วนรายได้ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึกอยู่ที่ 14% จากเดิม 17% ซึ่งถือว่าเป็นระดับสัดส่วนตามแผนกลยุทธ์ที่บริษัทฯ ตั้งไว้ และรายได้ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ยังเป็นการรับจ้างผลิต (OEM) อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกของลูกค้าชั้นนำในระดับสากล ขณะที่สัดส่วนรายได้จากอาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้แบรนด์สินค้าตัวเองอยู่ในระดับ 2.5% คิดเป็นรายได้ 152 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 58% เนื่องจากบริษัทฯ มีการปรับกลยุทธ์การขายและมีการทำแผนการตลาดที่เข้มขึ้นในประเทศไทยเพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์ ‘มองชู’ และ ‘ฮาจิโกะ’ โดยมีเป้าหมายระยะยาวเพิ่มสัดส่วนรายได้แบรนด์สินค้าตัวเองเป็น 10% ในอนาคตยังวางแผนเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มยอดขายต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจอาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึก ปริมาณการขายใกล้เคียงปีก่อนที่ 6,350 ตันโดยตลาดส่งออกใหญ่สุดคือธุรกิจทูน่าในกลุ่มประเทศตะวันออกลาง โดยรายได้จากการขาย 1,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนที่ 851 ล้านบาท
ส่วนผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2565 รายได้อยู่ที่ 1,707 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น 5% หรืออยู่ที่ 9,855 ตัน เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน 9,400 ตัน โดยเพิ่มขึ้นจากอาหารกลุ่มสัตว์เลี้ยงที่มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 15% แม้ช่วงปลายไตรมาสมีสัญญาณการชะลอตัวจากตลาดหลักทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ขณะที่รายได้จากอาหารพร้อมทานในภาชนะปิดผนึกลดลงเล็กน้อยตามปริมาณการขายเนื่องจากอุปสงค์จากประเทศซาอุดิอาราเบียและเยเมนลดลงและต้นทุนจากราคาทูน่าสูงขึ้น แต่บริษัทฯ มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาส 4 ประมาณ 99 ล้านบาท เพราะค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าลงในช่วงปลายไตรมาส ในขณะที่บริษัทฯ มีการขายเงินสหรัฐล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของบริษัท
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติกำหนดจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.20 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 โดยกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับปันผลวันที่ 27 เมษายน 2566
นายเอกราช กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนงาน ปี 2566 ว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ประมาณ 8,300 ล้านบาท หรือเติบโตมากกว่า 15 % จากปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากการเติบโตเฉลี่ยราว 18% ต่อปีในช่วงปี 2562-2565
หากมองการเติบโตแบ่งตามประเภทธุรกิจ ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกตั้งเป้ามีรายได้ 7,200 ล้านบาท หรือเติบโตมากกว่า 15 % จากการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 7,500 ตัน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกรวม 49,500 ตันต่อปี ซึ่งช่วยลดแรงกดดันในกระบวนการผลิตของบริษัท ที่สำคัญยังเอื้อต่อการหาลูกค้ารายใหม่ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดมีความต้องการมากโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา จากที่ลูกค้าเดิมมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเดินหน้าขยายกำลังการผลิตต่อเนื่องที่กำหนดว่าภายในปี 2568 กำลังการผลิตจะขยายตัวเป็น 82,000 ตัน
“การขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนช่วยเพิ่มยอดขาย และเพิ่มสัดส่วนลูกค้ารายใหม่ได้ต่อเนื่อง ประกอบกับคาดว่าจะมียอดขายจากการจำหน่ายผลิตสัตว์เลี้ยงจากแบรนด์ตัวเองที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน รวมทั้งการสร้างโอกาสทำตลาดในประเทศกลุ่มเอเชียและตะวันออกกลาง ขณะที่ตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจทูน่าอยู่ที่ 1,100 ล้านบาท หรือเติบโตจากปีก่อนที่ 12 % โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากค่าระวางเรือที่ลดลง และการขนส่งทางเรือกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีตลาดสำคัญคือตะวันออกกลาง” นายเอกราช กล่าว
นอกจากนั้น คาดว่าปี 2566 บริษัทฯ จะสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับ 19-20% ได้ เนื่องจากต้นทุนขอวัตถุดิบเริ่มมีทิศทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้น อีกทั้งบริษัทฯ เชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยังมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการขยายกำลังการผลิตและสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติแห่งที่ 2 ปีนี้ได้