“AA&P”เปิดมุมมองที่ปรึกษาทางการเงินของคนรุ่นใหม่ สะท้อนตลาดทุนที่จะเป็นอีกบริบทสำคัญของตลาดเงินสู่การเลือกตั้ง
บริษัท แอดไวเซอรี่ อัลไลแอนซ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด หรือ “AA&P” กับมุมมองนโยบายเศรษฐกิจ ฝ่ากระแสเลือกตั้ง ดักทางนโยบายเศรษฐกิจ สอดรับภาพรวมการลงทุน
นายพรพุทธ ริจิรวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดไวเซอรี่ อัลไลแอนซ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด หรือ AA&P เปิดเผย ในฐานะนักการเงินรุ่นใหม่ที่สะท้อนถึงนโยบายการเลือกตั้งของปี 2566 ว่า จากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าทุกพรรคให้ความสำคัญกับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเงิน
รวมถึงการเร่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก จนถึงกลุ่มระดับรากหญ้า เพราะการชูนโยบายด้านเศรษฐกิจ จะเป็นหัวใจหลักที่สำคัญสู่การขับเคลื่อนประเทศ และการรับมือวิกฤติการเงินระดับโลกที่มีความผันผวนสูงในขณะนี้
ขณะเดียวกันตลาดทุน ก็เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองหลักต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากต้องยอมรับว่าตลาดทุนเป็นกลไกที่จะช่วยให้เกิดการจัดสรรเงินทุนหรือทรัพยากรไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่สร้างผลิตภาพ ช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ กิจการธุรกิจ และการจ้างงาน
รวมถึงมีส่วนช่วยให้สังคมสิ่งแวดล้อมพัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ตลาดทุนยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนของผู้มีเงินออม ตลอดจนสนับสนุนการระดมทุนต่อยอดกิจการธุรกิจ เกื้อหนุนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนานวัตกรรมของประเทศในระยะยาว ดังนั้นการยกระดับศักยภาพของตลาดทุนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พัฒนาการจากระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาภาคธนาคารเป็นหลัก (Bank-Based Economy) เป็นระบบที่พึ่งพาการระดมทุนในรูปแบบอื่นมากขึ้น เนื่องจากมูลค่าตลาดทุนต่อ GDP ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากร้อยละ 60.7 ในปี 2009 เป็นร้อยละ 102.8 ในปี 2020 และจากสัดส่วนสินเชื่อที่ออกโดยธนาคารต่อ GDP
รวมที่มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 128 ในปี 1997 เป็นร้อยละ 107 ในปี 2020 (ที่มา : CMDF, 2565) ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนประเภทอื่น ได้แก่ หุ้น หุ้นกู้ ตราสารหนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลเหล่านี้ ต่างระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า บทบาทของตลาดทุนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะมีความสำคัญมากขึ้นต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ หากพิจารณาในบริบทของตลาดทุนไทย พบว่า ตลาดทุนไทยยังคงมีช่องว่างและความท้าทายในหลายด้าน ปัจจัยความท้าทายและทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการเลือกตั้งจะส่งผลกระทบต่อตลาดทุนในหลายด้านที่สำคัญ
เช่น นโยบายการจัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้น การพัฒนาระบบดิจิตอลในตลาดทุนไทย การกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน หรือการสนับสนุนบริษัทขนาดกลางขนาดเล็กเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
อย่างไรก็ตาม ทาง AA&P มองว่า การกระจายรายได้ การจัดสรรงบประมาณที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจภาคเอกชนภายในประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศที่มองเห็นศักยภาพของประเทศไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งปี 2566 ในครั้งนี้