ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
NEWS

SCB EIC คาดดอกเบี้ยนโยบายไทยจะปรับขึ้นต่อเนื่องสู่ 2.5% ในไตรมาส 3 นี้

KEY POINTS

กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2% ต่อปี เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยง จากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน

ดังนั้น การปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยนโยบาย อย่างต่อเนื่องยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย

กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.6% และ 3.8% ในปี 2023 และ 2024

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน และเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน

ด้านการส่งออกทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ และคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่แม้จะชะลอลงบ้างแต่ยังมีทิศทางขยายตัว โดยเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังมีความไม่แน่นอน

กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.5% และ 2.4% ในปี 2023 และ 2024

อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตามแรงกดดันจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 2% ในปี 2023 และ 2024 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเทียบกับอดีต

ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐในระยะต่อไป

นอกจากนี้ เงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับสูงนานต่อเนื่องอาจกระทบต่อพฤติกรรมการตั้งราคาของผู้ประกอบการได้

กนง. ประเมินว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ขณะที่ภาวะการเงินผ่อนคลายลดลง

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น

ด้านภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลง จากต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนที่ปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ส่วนหนึ่งตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการอ่อนค่าของเงินหยวน รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย

IMPLICATIONS

SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 ได้ในช่วงกลางปีนี้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมได้ฟื้นตัวมาอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนเกิด COVID-19 ราว -1.5% แล้ว (รูปที่ 1) แม้ภาคบริการจะยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 เกือบ -40% แต่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่าง ๆ ทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และภาคการผลิตปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 2)  สะท้อนแนวโน้มที่ดีในระยะต่อไป ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง จากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ

SCB EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในการประชุมเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้ สู่ระดับ Terminal rate ที่ 2.5% เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อของไทยที่แม้จะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูง (Upside risks) จากการส่งผ่านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภคที่จะคาดว่ายังอยู่ในระดับสูงตลอดปีนี้

และยังมีแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นโยบายการเงินไทยจึงมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับปกติที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ย Neutral rate ของไทยล่าสุดอยู่ที่ 2.5% ซึ่งเป็นระดับที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท.

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) ของไทยยังคงติดลบต่อเนื่อง ซึ่งการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำเกินไปจะก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ และเป็นการสะสมความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว

ดังนั้น กนง. จึงมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังระดับที่บทบาทนโยบายการเงินเป็นกลางมากขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับดังกล่าว เพื่อให้กลไกดอกเบี้ยนโยบายส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป

ทั้งนี้หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประเมินไว้ในปัจจุบัน กนง. อาจไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนไปสู่ระดับ Neutral rate ได้ในช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ แต่อาจต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไปแทน

วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลกมีแนวโน้มใกล้สิ้นสุดลง จากเงินเฟ้อของหลายประเทศที่ปรับลดลงมากกว่าคาด ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเริ่มทยอยกลับเป็นบวกแล้ว 

อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลกเริ่มปรับลดลงมากกว่าคาดในไตรมาส 2 นี้ โดย Citi inflation surprise index ของโลกออกมาต่ำกว่าคาดเป็นครั้งแรกในรอบ 29 เดือน (รูปที่ 3)

ซึ่ง SCB EIC คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ตามราคาพลังงานและปัญหาอุปทานคอขวดที่ทยอยคลี่คลาย ปัจจัยฐานสูง รวมถึงผลสะสมของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะถูกส่งผ่านไปยังระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในหลายประเทศได้เริ่มกลับมาเป็นบวก หลังจากติดลบมากต่อเนื่องหลังเกิด COVID-19 (รูปที่ 4) โดย SCB EIC คาดว่าธนาคารกลางสำคัญมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ออีกอย่างมาก 1-2 ครั้งในปีนี้

•ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) : ภาวะสินเชื่อและภาวะการเงินที่ตึงตัว ประกอบกับ Monetary policy lag และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเริ่มเป็นบวก (Restictive zone) ส่งผลให้ Fed มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ (Baseline)

อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) เดือนเมษายน ซึ่งเป็นมาตรวัดสำคัญของ Fed กลับมาเร่งตัวจากการใช้จ่ายผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง โดยหากตัวเลขการจ้างงานและเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมออกมาเร่งตัวสูงกว่าคาด อาจกดดันให้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้งได้

โดย SCB EIC คาดว่า Fed มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงตลอดปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 2% ของ Fed มาก

•ธนาคารกลางยุโรป : ภูมิภาคยุโรปเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงกว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเร็วตามราคาพลังงาน แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังขยายตัวต่อเนื่องจากค่าแรงเพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานต่ำ ส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงติดลบมาก โดย SCB EIC คาดว่า ECB และ BOE มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 25 BPS สู่ 3.75% และ 5% ตามลำดับ

ประเทศอื่น ๆ : คาดว่าหลายประเทศได้ยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เช่น Bank of Canada และ Bank of India ขณะที่ Bank of Korea คาดว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมและมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปีนี้ตามเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่นี่ https://www.scbeic.com/th/detail/product/policy-rate-310523

ยักษ์ลงทุน

ใส่ความเห็น