NEWS

กลยุทธ์ด้านอัตราดอกเบี้ย หลังกนง. ขึ้นดอกเบี้ย25 bps และสหรัฐฯ ขยายเพดานหนี้

กลยุทธ์ด้านอัตราดอกเบี้ย หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 25 bps และสหรัฐฯ ขยายเพดานหนี้

KEY SUMMARY

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB FM) มองว่า กนง. น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 25 bps ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อได้ เนื่องจากในแถลงการณ์ผลการประชุม กนง. ยังไม่ได้ส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย แต่ให้ติดตามความเสี่ยงด้านสูงของเงินเฟ้อ

ซึ่งอาจมาจากการดำเนินนโยบายภาครัฐที่มากกว่าที่ประเมิน อีกทั้ง คณะกรรมการมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงในขณะนี้ยังคงติดลบ แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจปกติควรปรับขึ้นมาเป็นบวกได้ SCB FM

จึงมองว่ามีโอกาสที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อได้ในการประชุมครั้งต่อไป และยังมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับสู่ระดับ neutral rate  ของไทยที่ 2.50% ได้ ทำให้ยังมีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนระยะสั้นจะปรับสูงขึ้นอีก

SCB FM แนะให้ลูกค้าป้องกันความเสี่ยงทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยการ Pay fixed-rate ตามที่เคยแนะนำไป ซึ่งหาก กนง. ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามที่ประเมิน ก็อาจทำให้ THOR OIS tenor 2 ปี ปรับสูงขึ้นสู่ระดับราว 2.40-2.50%% ได้ ลูกค้าจึงอาจพิจารณาทำธุรกรรม Pay fixed rate ที่ระดับปัจจุบันราว 2.10%

อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงที่นโยบายภาครัฐอาจไม่เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้ออย่างที่ กนง. เป็นห่วง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ปรับสูงขึ้นเกินกว่า 2.25% โดยกว่าที่นโยบายจะออกมาได้นั้นคาดว่าต้องรอถึงไตรมาส 4 ปีนี้เป็นอย่างเร็ว

อีกทั้งการส่งผ่านสู่ภาคเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลา จึงอาจยังไม่เห็นแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในปีนี้ สำหรับแนวโน้มการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ก็น่าจะไม่ทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นนักโดยเฉพาะในปีนี้

ด้วยเหตุนี้ SCB FM แนะให้ลูกค้าที่เคยทำธุรกรรม Pay fixed-rate ไปแล้ว และมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ถูกปรับขึ้นเกินกว่า 2.25% ก็อาจพิจารณาทยอยปิด Position ได้ โดยตั้งเป้า THOR OIS tenor 2 ปี ที่ระดับราว 2.20% (SCB FM เคยแนะนำกลยุทธ์นี้ในเดือนมีนาคมซึ่ง THOR OIS อยู่ที่ราว 1.70-1.80%)

สหรัฐฯ น่าจะขยายเพดานหนี้ภาครัฐสำเร็จ ประกอบกับโอกาสที่ Fed จะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ก็มีน้อยลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัว โดยปัจจัยเรื่องเพดานหนี้ที่จะทำให้อัตราผลตอบแทนฯ ปรับลดลง ได้หมดไป

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าที่คาด ทำให้โอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ยในปีนี้มีน้อยลง โดยล่าสุดผู้ร่วมตลาดบางส่วนมองว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมิถุนายนนี้ได้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ในเดือนที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นเร็ว ซึ่งในระยะต่อไป SCB FM ประเมินว่ามีแนวโน้มทรงตัว

SCB FM จึงแนะนำให้ลูกค้าที่ได้ทำธุรกรรม Pay fixed USD ตามที่เคยแนะนำไป อาจยังคง Position ได้อยู่ (โดยทางเราได้เคยแนะให้เข้าทำธุรกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงที่ SOFR OIS tenor 2 ปี อยู่ที่ระดับราว 3.85% จนล่าสุดขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.35%)

สำหรับลูกค้าที่ยังไม่ได้ทำธุรกรรม Pay fixed USD อาจคอยติดตามสถานการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อและเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งในเวลาที่ออกมาแย่กว่าคาด อาจเห็นอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงมา ซึ่งอาจเข้าทำธุรกรรม Pay fixed USD ที่ระดับราว 4.25% หรือต่ำกว่าได้

กนง. ขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 2% และมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อในไตรมาส 3 ปีนี้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bps มาอยู่ที่ 2.0% ตามที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ ทั้งนี้ กนง. ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปีนี้ลงจาก 2.9% มาอยู่ที่ 2.6% จากแรงกดดันค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ลดลง และปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของปีนี้ลงลงจาก 2.4% มาอยู่ที่ 2.0%

พร้อมมองว่าในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน มีโอกาสที่เลขอัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงได้อีก (อาจต่ำกว่า 2% ได้) เนื่องจากจะเผชิญปัจจัยฐานสูงเพิ่มขึ้น สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ของปีนี้ กนง. ยังคงไว้เท่าเดิมที่ 3.6% โดยมองการส่งออก การท่องเที่ยว และการบริโภคเอกชนดีขึ้น

แต่มองการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนแย่ลง สำหรับในระยะต่อไป กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ได้ หากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐออกมามากกว่าคาด

ในการประชุมครั้งต่อไป SCB FM มองว่า กนง. น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 25 bps ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อได้  เนื่องจากในแถลงการณ์ผลการประชุม กนง. ยังไม่ได้ส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย แต่ให้ติดตามความเสี่ยงด้านสูงของเงินเฟ้อ

ซึ่งอาจมาจากการดำเนินนโยบายภาครัฐที่มากกว่าที่ประเมิน อีกทั้ง คณะกรรมการมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงในขณะนี้ยังคงติดลบ แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจปกติควรปรับขึ้นมาเป็นบวกได้ SCB FM จึงมองว่ามีโอกาสที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อได้ในการประชุมครั้งต่อไป

อย่างไรก็ดี ผู้ร่วมตลาด ณ ขณะนี้ยังไม่ fully price ว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 2.25% ในการประชุมครั้งต่อไป (ปัจจุบันตลาด price-in การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไปราว 50-60%) และยังมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับสู่ระดับ neutral rate[1] ของไทยที่ 2.50% ได้

ทำให้ยังมีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นจะปรับสูงขึ้นอีก นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ในระยะสั้นเงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังไม่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยมากนัก ความเสี่ยง Downside ที่อัตราผลตอบแทนฯ จะปรับลงจึงมีต่ำ

 SCB FM แนะให้ลูกค้าป้องกันความเสี่ยงทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยการ Pay fixed-rate[2] ตามที่เคยแนะนำไป ซึ่งหาก กนง. ยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามที่ประเมิน ก็อาจทำให้ THOR OIS tenor 2 ปี ปรับสูงขึ้นสู่ระดับราว 2.40-2.50%% ได้ ลูกค้าจึงอาจพิจารณาทำธุรกรรม Pay fixed rate ที่ระดับปัจจุบันราว 2.10%

อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงที่นโยบายภาครัฐอาจไม่เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้ออย่างที่ กนง. เป็นห่วง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ปรับสูงขึ้นเกินกว่า 2.25% โดยกว่าที่นโยบายจะออกมาได้นั้นคาดว่าต้องรอถึงไตรมาส 4 ปีนี้เป็นอย่างเร็ว

อีกทั้งการส่งผ่านสู่ภาคเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลา จึงอาจยังไม่เห็นแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในปีนี้ สำหรับแนวโน้มการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ก็มีโอกาสที่จะยังไม่เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อในปีนี้เช่นกัน เนื่องจาก

  • หากมองย้อนกลับไปในปี 2013 ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน พบว่าภาครัฐแบ่งการขึ้นค่าแรงเป็น 2 รอบ รอบแรกขึ้นช่วงเดือน เม.ย. 2013 ราว 40% ทั่วประเทศมาอยู่ที่ราว 222-273 บาท/วัน (ค่าแรงหลังถูกปรับขึ้นจะแตกต่างกันแล้วแต่จังหวัด) และรอบที่สองถูกปรับขึ้นในเดือน ม.ค. 2014 มาอยู่ที่ 300 บาท/วัน เท่ากันทุกจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดเพิ่มขึ้นอีกราว 9-36% อย่างไรก็ดี พบว่าเงินเฟ้อในช่วงนั้นไม่ได้ปรับขึ้นตามมากนัก แต่เงินเฟ้อของไทยจะได้รับผลจากเรื่องของราคาพลังงานมากกว่า
  • สำหรับนโยบายที่มีการเสนอขณะนี้ ให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท/วัน SCB FM ประเมินว่าจะทำให้อัตราค่าจ้างในแต่ละจังหวัดเพิ่มขึ้นราว 27.5%-41.5% ซึ่งจะเห็นได้ว่า อัตราการปรับขึ้นค่าแรงนั้นน้อยกว่าในช่วงปี 2013-14 อย่างมีนัย และหากภาครัฐใช้แนวทางการปรับขึ้นเหมืนรอบก่อน โดยแบ่งการขึ้นเป็น 2 รอบ ก็จะทำให้การส่งผ่านแรงกดดันไปสู่เงินเฟ้อมีน้อยลงไปอีก และผลกระทบต่อเงินเฟ้อก็น่าจะยังไม่เห็นภายในปีนี้

นอกจากนี้ ในช่วงตอบคำถาม เลขานุการ กนง. เลี่ยงตอบคำถามที่ว่า กนง. จะดำเนินนโยบาย normalization ต่อไปหรือไม่ โดยกล่าวว่าการดำเนินนโยบายที่ผ่านมานั้นเหมาะสมและคณะกรรมการฯ จะดูแนวโน้มเศรษฐกิจประกอบการดำเนินนโยบายในระยะต่อไป ซึ่งการสื่อสารนี้แตกต่างจากการประชุมรอบที่แล้วที่ กนง.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายชัดเจนกว่า

ด้วยเหตุนี้ SCB FM แนะให้ลูกค้าที่เคยทำธุรกรรม pay fixed-rate ไปแล้ว และมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ถูกปรับขึ้นเกินกว่า 2.25ก็อาจพิจารณาทยอยปิด Position ได้ โดยตั้งเป้า THOR OIS tenor 2 ปี ที่ระดับราว 2.20% (SCB FM เคยแนะนำกลยุทธ์นี้ในเดือนมีนาคมซึ่ง THOR OIS อยู่ที่ราว 1.70-1.80%)

 สหรัฐฯ ขยายเพดานหนี้สำเร็จ ทำให้อัตราผลตอบแทนฯ มีแนวโน้มทรงตัว

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายในการขยายเพดานหนี้ภาครัฐ ทำให้จะสามารถเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ในที่สุด โดยสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) มีมติ 314 ต่อ 117 เสียงในการโหวตผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งในขั้นตอนต่อไป ร่างนี้จะถูกส่งไปที่วุฒิสภา (Senate) เพื่อรับการเห็นชอบก่อนที่จะได้รับการลงนามโดยประธานาธิบดีเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป

โดยคาดว่าจะต้องได้รับการลงนามก่อนวันที่ 5 มิถุนายน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้รัฐบาลผิดนัดชำระหนี้ (technical default) สำหรับเนื้อหาในร่างกฎหมายนี้ คาดว่าการใช้จ่ายภาครัฐจะถูกกำหนดให้คงที่ไปอีก 2 ปี (ยกเว้นการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ) เร่งการอนุมัติโครงการพลังงานขนาดใหญ่ ปรับลดเงินสนับสนุนในโครงการ Internal Revenue Service

และเพิ่มเงื่อนไขในโครงการแสตมป์อาหาร (Food Stamp Program) และโครงการประกันสังคม (social safety net) ให้ครอบคลุมน้อยลง ส่วนเพดานหนี้จะถูกขยายให้สูงขึ้นครอบคลุมไปถึงเดือนมกราคม 2025

ด้วยความเสี่ยงเรื่องเพดานหนี้ที่หมดไป ประกอบกับโอกาสที่ Fed จะปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ก็มีน้อยลง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในระยะต่อไปมีแนวโน้มทรงตัว โดยปัจจัยเรื่องเพดานหนี้ที่จะทำให้อัตราผลตอบแทนฯ ปรับลดลง ได้หมดไป นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มลดลงช้ากว่าที่คาด

โดยเฉพาะต้นทุนสินค้ากลุ่มพลังงานและภาคบริการที่ปรับสูงกว่าคาดในเดือนที่ผ่านมา ทำให้โอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ยในปีนี้มีน้อยลง โดยล่าสุดผู้ร่วมตลาดบางส่วนมองว่า Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมิถุนายนนี้ได้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ในเดือนที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นเร็ว ซึ่งในระยะต่อไป SCB FM ประเมินว่ามีแนวโน้มทรงตัว

SCB FM จึงแนะนำให้ลูกค้าที่ได้ทำธุรกรรม Pay fixed USD ตามที่เคยแนะนำไป อาจยังคง Position ได้อยู่ (โดยทางเราได้เคยแนะให้เข้าทำธุรกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงที่ SOFR OIS tenor 2 ปี อยู่ที่ระดับราว 3.85% จนล่าสุดขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.35%

ทั้งนี้ สำหรับลูกค้าที่ยังไม่ได้ทำธุรกรรม Pay fixed USD อาจคอยติดตามสถานการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อและเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งในเวลาที่ออกมาแย่กว่าคาด อาจเห็นอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงมา ซึ่งอาจเข้าทำธุรกรรม Pay fixed USD ที่ระดับราว 4.25% หรือต่ำกว่าได้

ผู้เขียนบทวิเคราะห์   วชิรวัฒน์ บานชื่น  นักกลยุทธ์ตลาดเงินอาวุโส กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์     

ใส่ความเห็น