ทรีนีตี้
NEWS

ทรีนีตี้ ชี้เฟด-สภาพคล่องหด กดหุ้นครึ่งปีหลัง ย้ำ!เป็นจังหวะซื้อหุ้น Mega Trend

“ทรีนีตี้” มองตลาดหุ้นฟื้นไตรมาส 4 จากสามปัจจัยหนุน เฟดมีโอกาสคงดอกเบี้ย – เงินดอลลาร์อ่อน – บอนด์ยีลพีคไปแล้ว ขณะที่หุ้นไทยระดับดัชนี 1450-1460 จุด ถูกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบ 16 ปี ในเชิง Price Book Value ที่ 1.39X

•แนวโน้มไตรมาส 3 หุ้นมีโอกาสปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจโตน้อย สภาพคล่องทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทุนนอกยังไม่เข้า หลังขายหนักตั้งแต่ต้นปีกว่า 1 แสนล้าน แนะลงทุนหุ้นอิง Mega Trend เช่น หุ้นได้ประโยชน์ภาวะโลกร้อน และกลุ่มที่ให้เงินปันผลสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร เช่น กลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคาร

ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุน ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัว และทิศทาง Fund Flow โลกยังคงอ่อนแอกว่าช่วงต้นไตรมาส 3-4 ตลาดหุ้นจะขึ้นต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเติบโตเศรษฐกิจ

หลังmujดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐน่าจะถึงจุดสูงสุดในปลาย ไตรมาส 3 แล้ว โดยคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจังในปลายไตรมาส 3 และจะหนุนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบสนองในทางบวกในไตรมาส 4

ในทางกลับกันถ้าเฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยทันที ตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนเป็นลบ เพราะเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิ.ย.เฟดยังส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยอีกเนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลข Core PCE โดยที่ FOMC คาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในไตรมาส 3 นี้ (อาจจะเป็นปลายเดือนก.ค.) เพราะยังไม่สบายใจกับตัวเลข Core PCE ที่ยังไม่ปรับตัวลดลงที่ยังคงอยู่ระดับ 4.7%

“ตลาดหุ้นทั่วโลกไตรมาส 3 มีโอกาสปรับตัวลดลงเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และสภาพคล่องทั่วโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญและจะกดดันให้ตลาดหุ้นโลกและไทยในช่วงไตรมาส 3 อ่อนแอลง” ดร.วิศิษฐ์ กล่าว

สภาพคล่องในตลาดโลกกำลังลดลงจาก 7 สาเหตุ ได้แก่

1.เฟดอาจจะต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดซับเม็ดเงินกว่า US$ 6.5 แสนล้านเหรียญ ภายในครึ่งปีหลังของปี 2566  ผ่าน Treasury General Account ซึ่งเป็นผลจากมาตรการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling)

2.ธนาคารกลางยุโรปจะต้องคืนเงิน LTRO กว่า 4.8 แสนล้านยูโร ในเดือนมิ.ย.- ก.ค.

3.Dot Plot ของเฟด มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% 0.50% ในไตรมาส 3 หลังจากที่เฟดได้หยุดการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.

4.ความสนใจในการทำ QT ของเฟดอาจจะมีอีกครั้งและอาจจะถึงเดือนละ US$ 9.5 หมื่นล้าน จากปัจจุบันที่ US$7.8 หมื่นล้านเหรียญ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะนำไปสู่การแข็งค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะแข็งค่าขึ้นมากกว่า 2-3% แต่เป็นรอบท้ายๆ ของการแข็งค่าของดอลลาร์

5.สัญญาณทางตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งตลาดการเงิน และเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังบ่งบอกเศรษฐกิจกำลังถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ เช่น Inverted Yield Curve ของ Bond Yield สหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1982 บ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่การถดถอยในไตรมาส 4 ปีนี้หรือปีหน้าและตัวเลข PMI ที่ตกต่ำลง

6.ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐอาจจะลดลงจากปัจจุบัน  2 แสน-3 แสนตำแหน่งต่อเดือน มาสู่ระดับต่ำกว่า 1 แสนตำแหน่งต่อเดือนในไตรมาส 4

7.สำหรับ SET Index ปริมาณเงินในระบบของไทย (M2 growth) เติบโตต่ำสุดตั้งแต่ปี ในรอบ 15 ปี นับจากปี 2551 โดย M2 growth จะเป็นตัวชี้นำของ SET Index ล่วงหน้า และการมีส่วนร่วมของนักลงทุนรายบุคคลจะลดลง อย่างมีนัย

แต่นักลงทุนสถาบันจะเป็นฝ่ายซื้อสุทธิเนื่องจาก Earning Yield Gap ของตลาดหุ้น เมื่อเปรียบเทียบกับพันธบัตรไทยอยู่ในระดับน่าสนใจ บ่งบอกดัชนีเป้าหมายที่ 1552

ดร.วิศิษฐ์ กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาส 4 น่าจะฟื้นตัว หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วช่วงไตรมาส 3 จาก 1. การอ่อนแอของดอลลาร์สหรัฐ และเฟดมีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 1 ปี 2567

2. มองตลาดทุนในตลาดเกิดใหม่จะ Outperform ในไตรมาส 4 เนื่องจากในเอเชียได้ผลกระทบจาก Interest shock น้อยกว่าตลาดหุ้น ในกลุ่มประเทศพัฒนาส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะ Outperform ตลาดหุ้นจีนจะมีการฟื้นตัวในไตรมาส 3 นี้

3. มอง Bond Yield 10 ปีของสหรัฐได้ถึงจุดสูงสุดไปแล้วที่ระดับ 4.3% หรือกว่า 8 เดือนที่แล้วแต่ Fed Fund Rate อาจจะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 3 และหยุดการขึ้นดอกเบี้ย และมอง กนง.ของประเทศไทยจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาส 3

การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงกำลังสะท้อนความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายที่มีผลต่อตลาดทุน ขณะที่นักลงทุนขายสุทธิกว่า 1 แสนล้านบาท ตั้งแต่ปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนพฤษภาคมที่ขายกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 3.3 หมื่นล้าน และคาดว่าการขายของนักลงทุนต่างประเทศลดลง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่จะหนุนเศรษฐกิจคือ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมาและมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของจีดีพี  รวมถึงการส่งออกไทยฟื้นตัวไตรมาส 4 โดยปกติการส่งออกของไทยจะอยู่ในช่วงเฉลี่ยเดือนละ 21,000-23,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่ฐานต่ำในไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่ระดับ 21,933 อาจทำให้เราเห็นการเติบโตของ Export ในไตรมาส 4 ปีนี้

“ดัชนีหุ้นไทยที่ระดับ 1450 จุด ถูกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบ 16 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับการเกิด Covid รอบ 2 ในกลางปี 2021 และถือเป็นจุดที่น่าลงทุนในระยะกลาง Valuation ปัจจุบัน P/BV ที่ 1.44 เท่า” ดร.วิศิษฐ์กล่าว

ด้านกลยุทธ์ มองว่าการลงทุนใน Mega Trend เช่น หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเอลนีโญ ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นในครึ่งแรกของปี 2567 หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก AI Growth ทั่วโลก

และหุ้นไทยที่มีการเติบโตทั้ง Yoy และ QoQ ในไตรมาส 2 เช่น BBL BEM CPALL CPAXT KTB MINT และมองกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก Searching for Yields (เงินปันผลมากกว่าอัตราผลตอบแทนรัฐบาล 10 ปี)

ใส่ความเห็น