บลจ.กรุงไทย (KTAM) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลกทั่วโลก เชื่อไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ย้ำ! ดอกเบี้ยเข้าใกล้จุดสูงสุด ควรรอบคอบลงทุนตราสารหนี้ ยกหุ้นยังให้โอกาสสร้างยิลด์ที่ดี เชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยจะคึกกว่านี้หากการเมืองชัดจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พร้อม ชี้ทางลงทุน แบบไหนให้ไปต่อได้
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกจากนี้ถึงสิ้นปี 2566 ว่า ภาพรวมตลาดการลงทุนของโลกมีปัจจัยที่สนับสนุน ได้แก่ การที่อัตราเงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว แต่การลดลงของอัตราเงินเฟ้อเป็นไปอย่างเชื่องช้า
มองภาพรวมคาดไม่เกิดRecession
ดังนั้นจึงส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบทำให้เกิด ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แต่จะเป็นการเติบโตอย่างช้าๆ (Soft Landing) ก่อนที่ธนาคารกลางจะทำการลดอัตราดอกเบี้ยในประมาณกลางปีหน้า
อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยที่ยังมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องคือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risk) ซึ่งจะนำไปสู่การใช้กำแพงภาษี การย้ายฐานการผลิตเพื่อลดปัญหาอุปทานขาดแคลนจากการกีดกันทางการค้า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
ในส่วนของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการฟื้นตัวที่สำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ที่อาจจะเดินทางเข้ามาในประเทศมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีและต่อเนื่องถึงปีหน้า ส่งผลดีต่อรายได้และการบริโภคในประเทศ
ชี้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ช่วยหนุนความเชื่อมั่นศก.ไทย
ส่วนเงินเฟ้อของประเทศไทยที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน (Supply push) แต่ไม่ได้เป็นปัญหายืดเยื้อเหมือนประเทศอื่นๆ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายในประเทศอาจจะไม่ได้สูงนัก คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.50% เพื่อปรับดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับ “สมดุล” และไม่ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยกับต่างประเทศสูงจนเกินไปนัก
อย่างไรก็ดี ปัจจัยหนุนในประเทศ จะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมที่คาดว่าจะค่อยๆ ดีขึ้น จากการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เข้าสู่ High season ในไตรมาส 4 รวมถึงภาพการเมืองที่ชัดเจนขึ้น จะทำให้แนวโน้มตลาดไทยผันผวนลดลง โดยเฉพาะเมื่อสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
ทั้งนี้ คาดว่าจะการชุมนุมประท้วงจะไม่รุนแรงเท่าในอดีตที่ผ่านมา และเมื่อมีแนวทางในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนโดยรวมได้
สำหรับตลาดหุ้นไทย ยังมีความเสี่ยงบ้างจากผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ผ่านมา ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนและภาระดอกเบี้ยให้ภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง ประกอบกับแนวโน้มของการเกิดภัยแล้งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและการบริโภคได้ด้วย
ประเมินดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี66ที่1,640 จุด
โดย บลจ. กรุงไทย คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรประมาณ 10-12% มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ที่ระดับ 3.2-3.4% เป็นระดับที่ Valuation ไม่แพงนัก ซึ่งปัจจุบัน P/E อยู่ที่ประมาณ 15-16 เท่า โดยประเมิน SET Target ที่ 1,640 จุด ณ สิ้นปี 2566
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยได้สะท้อนความกลัวและความกังวลของนักลงทุน ในประเด็นความเสี่ยงจากการเมือง และการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไปพอประมาณแล้ว
ขณะที่สัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับต่ำ จากการขายออกมาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และคาดการณ์แนวโน้มค่าเงินบาท ที่น่าจะกลับมาแข็งค่าจากปัจจัยเศรษฐกิจที่น่าจะดีขึ้น จึงคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติให้กลับเข้าตลาดตราสารทุนไทยได้
แนะกลยุทธ์ ชี้ทางลงทุน หุ้นและกองทุน
โดยกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2566 นี้ จะพิจารณาเลือกสรรหุ้นและอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ หุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภค และภาคบริการภายในประเทศ
หุ้นที่ได้ประโยชน์ จากการออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกประคองตัวได้ (ไม่เป็น Recession รุนแรง) และหุ้นที่ผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
“บลจ.กรุงไทย ได้ประเมินภาพการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวนสูง ดังนั้น การเลือกลงทุน (Selection) จึงมีความสำคัญมากขึ้น และหลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาพอสมควร ทำให้บางตลาดเริ่มมี Valuation ที่ “แพง” นักลงทุนจึงอาจต้องเน้นในกลุ่มประเทศ/อุตสาหกรรม ที่มีความสามารถในการเติบโตที่มีคุณภาพในระยะยาว รวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี และมีอายุเฉลี่ยที่ยาวขึ้น
ย้ำ!ลงทุนตราสารหนี้ต้องดูดอกเบี้ย
ดังนั้น นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาได้ ก็ควรให้ความสนใจที่จะเลือกลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงกว่าตราสารหนี้ เนื่องจากตลาดตราสารหนี้นั้น อัตราดอกเบี้ยอาจจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว และน่าจะมีทิศทางอ่อนตัวลง ซึ่งอาจเหมาะกับการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนสูงไม่ได้
อาทิเช่น นักลงทุนที่สามารถรับความผันผวนได้มากควรลงทุนในหุ้นประมาณ 70% และลงทุนในตราสารหนี้เพียง 30% ในทางกลับกัน สำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนได้ต่ำก็ควรลงทุนในหุ้น 30% และลงทุนในตราสารหนี้ถึง 70% เป็นต้น
นางชวินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า บลจ.กรุงไทย มีมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมด (AUM) ภายใต้การจัดการของบริษัทอยู่ที่ที่ 789,261 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนตลาดที่ 9.2% เติบโต 3.3% YoY แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) อยู่ที่ 571,197 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนตลาดที่ 11.5% เติบโต 1.6 % YoY, ก
ลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) อยู่ที่ 59,715 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนตลาดที่ 2.7% เติบโต 32.1% YoY และกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) อยู่ที่ 158,349 ล้านบาท คิดเป็น 11.4% เติบโต 1.2% YoY (ข้อมูล : AIMC ณ 30 มิ.ย. 2566)