JSP ส่ง CDIP ร่วมเครือข่าย Thailand OECD-GLP Preclinical Testing
ลง MOU กับ TCELS ผลักดันบริการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพไทยสู่ตลาดโลก
บมจ. โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) ส่งบริษัทลูก ซีดีไอพี เข้าร่วม Thailand OECD-GLP Preclinical Testing (TOPT) Network เครือข่ายผู้ให้บริการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง สารเคมีในอุตสาหกรรม วัตถุเจือปนอาหาร วัตถุเติมในอาหารสัตว์
ประกอบด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน)
ร่วมลงนามกับ TCELS ร่วมยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการไทย โดยการให้บริการทดสอบนี้ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศสมาชิกOECD และภาคีสมทบ รวม 45 ประเทศ
นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JSP ผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนา ผลิตและจำหน่าย ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบครบวงจร ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) CDIP เปิดเผยว่า CDIP ได้เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)
หรือ TCELS ในฐานะเครือข่าย Thailand OECD-GLP Preclinical Testing Network (TOPT) เครือข่ายผู้ให้บริการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ยา วัคซีน เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง สารเคมีในอุตสาหกรรม วัตถุเจือปนอาหาร วัตถุเติมในอาหารสัตว์ สารฆ่าหรือกำจัดสิ่งมีชีวิต และยาฆ่าแมลง
โดยมีหน่วยงานในเครือข่ายที่เข้าร่วม ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการไทย โดยการให้บริการทดสอบนี้ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศสมาชิก OECD และภาคีสมทบ รวม 45 ประเทศ
มีสถานทูตประเทศสมาชิก OECD และบริษัทยาเข้าร่วมจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการสามารถมั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบจาก TOPT จะได้รับมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล และสามารถผลักดันเข้าสู่การแข่งขันในระดับโลกได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
หากความร่วมมือนี้ประสบความสำเร็จก็จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมยาไทย ที่ล่าสุดปี 2565 มูลค่าตลาดรวมยาและเวชภัณฑ์ของไทยอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท ให้สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างก้าวกระโดดภายใน 5 ปี JSP ในฐานภาคเอกชนมีความยินดีในการร่วมผลักดันอุตสาหกรรมยาไทยให้ก้าวไปสู่ผู้ส่งออกยาแถวหน้าของโลกอย่างได้มาตรฐาน
ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์การแพทย์และสุขภาพของไทยจำนวนไม่น้อยติดปัญหาในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย
จนกระทบถึงเรื่องการส่งออกไปต่างประเทศ ในการนี้ ด้วยข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์ทดสอบ (Test facility) ที่ผ่านการรับรองความสามารถตามหลักการ OECD-GLP จากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เพื่อให้นำข้อมูลจากการทดสอบไปขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ในประเทศสมาชิก OECD และประเทศภาคีสมทบ รวม 45 ประเทศ ถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยลดข้อกีดกันทางการค้า ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์การแพทย์และสุขภาพของไทยสามารถส่งออกได้ง่ายขึ้น
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานการทดสอบความปลอดภัยเหล่านี้ เป็นขั้นตอนสำคัญในการยืนยันความปลอดภัยของยาและวัคซีน ซึ่งการเกิดขึ้นของเครือข่าย TOPT ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี
เพราะจะเป็นส่วนสร้างเสริมความมั่นคงทางยา และวัคซีนของประเทศ และยังส่งเสริมให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนายา และวัคซีนอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานสากล ซึ่งจะเสริมสร้างและผลักดันให้ไทยสามารถพัฒนาวัคซีนใช้ในประเทศและส่งออกได้ในอนาคต
ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ กล่าวว่า เครือข่าย TOPTเกิดจากกลุ่มห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ผ่านการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามหลักการ OECD-GLP จากทั่วประเทศ ผู้ประกอบการไทยสามารถนำผลการทดลองที่ผ่านการทดสอบจาก TOPT ไปใช้ขึ้นทะเบียนค้าขายกับประเทศสมาชิกOECD และประเทศภาคีสมทบได้
โดยปัจจุบันมีหน่วยงานจากประเทศเยอรมัน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และประเทศอื่น ๆ ให้ความสนใจไม่น้อย จากที่เครือข่าย TOPT มีโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลและพร้อมด้วยบุคลากรที่มีความสามารถ โดยมี TCELS เป็นหน่วยงานกลางในการรับและกระจายงานให้กับเครือข่าย สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ link TOPT Test List and Leaflet – Google ไดรฟ์
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วว. เป็นหนึ่งในศูนย์ทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ตามหลักการ OECD-GLP เพื่อให้บริการแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ทั้งภาครัฐและเอกชน
ซึ่งจากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ พบว่าประเทศไทยยังขาดช่วงของการพัฒนายาและวัคซีน ในด้านสุขภาพและความปลอดภัยในระยะก่อนคลินิก (pre-clinic) ด้วยเหตุนี้ การเกิดเครือข่าย TOPT ย่อมจะช่วยประกันคุณภาพระบบต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากล มีการทดสอบที่เป็นระบบ