ทีเอ็มบีธนชาต ตอกย้ำความสำเร็จ Ecosystem Play รุกแผนช่วยมนุษย์เงินเดือนปลดหนี้ ผ่านโซลูชันรวบหนี้และสินเชื่อสวัสดิการ พร้อมเดินหน้ายกระดับดิจิทัล แบงก์กิ้งให้คนไทยมีชีวิตดีขึ้นรอบด้าน
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ประกาศความสำเร็จแผนขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Ecosystem Play เพื่อส่งมอบชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นรอบด้านให้กับคนไทยผ่านการยกระดับดิจิทัลแบงก์กิ้งและโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง
อีกทั้งตอกย้ำการเป็นธนาคารที่มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยกลุ่มมนุษย์เงินเดือนปลดภาระหนี้ผ่านโซลูชันรวบหนี้และสินเชื่อสวัสดิการกว่า 170,000 คน ภายใน 3 ปี
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ทีทีบี มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมา ได้ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยความตั้งใจที่จะทำให้พันธกิจนี้เป็นจริง
โดย 1 ใน 3 กลยุทธ์ที่สำคัญของปีนี้ คือ Ecosystem Play Business Model หรือ การสร้างชีวิตทางการเงินของลูกค้าให้ดีขึ้นรอบด้านโดยมุ่งเน้น 3 กลุ่มเป้าหมายหลักที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญและมีฐานลูกค้าเป็นแต้มต่อ
ได้แก่ กลุ่มมนุษย์เงินเดือน (Salaryman Ecosystem) กลุ่มคนมีรถ (Car Owner Ecosystem) และกลุ่มคนมีบ้าน(Home Owner Ecosystem) เพื่อช่วยให้ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถบริหารจัดการเรื่องสำคัญในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและรอบด้านมากกว่าแค่เรื่องการเงิน
โดยที่ผ่านมา ถือได้ว่าทีทีบีสามารถต่อยอดธุรกิจจากฐานลูกค้ากลุ่มคนมีรถได้อย่างโดดเด่น เห็นได้จากความสำเร็จจากการเปิดตัวฟีเจอร์ My Car บนแอป ttb touch ที่ช่วยให้ลูกค้ามีรถ ได้รับประสบการณ์ใหม่ของความสะดวกสบายในการจัดการเรื่องสำคัญเกี่ยวกับรถ
เช่น การเติมเงิน-เช็คยอดบัตรทางด่วน Easy Pass การต่อประกันและพ.ร.บ.รถยนต์ การประเมินราคารถพร้อมประกาศขาย ตลอดจนโปรโมชันต่าง ๆ เกี่ยวกับการดูแลรถ โดยปัจจุบันมีรถที่นำมาลงทะเบียนเพื่อใช้งานฟีเจอร์นี้ถึงกว่า 580,000 คัน มีผู้ใช้มากกว่า 150,000 คนต่อเดือน
ส่งผลให้ลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารมีพฤติกรรม Active บนดิจิทัลแบงก์กิ้งมากกว่า 78% รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มบริการซื้อ-ขาย “รถโดนใจ” (Roddonjai) ที่ช่วยคู่ค้าเต็นท์รถมือสองจากการโดนดิสรัปชันในตลาด
โดยในช่วง Soft Launch ที่ผ่านมามีดีลเลอร์ผู้จำหน่ายรถเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มแล้วมากกว่า 1,200 ราย โดยธนาคารจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมกิจกรรมทางการตลาดแบบเต็มรูปแบบในเร็ว ๆ นี้
ในส่วนของกลุ่มคนมีบ้าน ล่าสุดธนาคารเพิ่งเปิดตัวบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ttb l Global House ซึ่งเต็มไปด้วยสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่าสำหรับคนรักบ้าน ได้รับการตอบรับที่ดี มียอดบัตรใหม่รวมราว 30,000 ใบ ภายใน 2 เดือน และในเร็ว ๆ นี้ จะมีการเปิดตัวฟีเจอร์ My Home เพื่อให้ลูกค้าสามารถจัดการเรื่องสำคัญเกี่ยวกับบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านแอป ttb touch
สำหรับกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ทีทีบี มีเป้าหมายที่จะเป็นมากกว่าบัญชีเงินเดือนสำหรับลูกค้า Payroll ซึ่งธนาคารได้มีการเปิดตัวฟีเจอร์ My Tax ผู้ช่วยบริหารจัดการทุกเรื่องภาษี และล่าสุดได้เริ่มเปิดตัว my work by ttb ระบบบริหารงานบุคคลแบบมืออาชีพ
ซึ่งเป็น HRM System ที่จะช่วยเจ้าของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SME และฝ่ายบุคคลขององค์กรสามารถบริหารงานบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ เป็นบริการใหม่ที่เราได้เริ่มเปิดตัวเว็บไซต์ mywork.ttbbank.com ให้ลูกค้าธุรกิจที่สนใจโซลูชันนี้เข้ามาลงทะเบียนล่วงหน้า และจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้
สำหรับ my work by ttb จะช่วยให้ฝ่ายบุคคลสามารถจัดการเรื่องสำคัญเกี่ยวกับที่ทำงานได้ทั้ง คำนวณเงินเดือนและสามารถโอนจ่ายเงินเข้าบัญชีพนักงานได้ในคลิกเดียว จัดทำเอกสารต่าง ๆ ช่วยลดขั้นตอน Manual รวมถึงการเบิก- จ่ายต่าง ๆ ของพนักงาน จัดการแบบดิจิทัล ช่วยลดต้นทุน
และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี และเพื่อตอบโจทย์การสร้าง Ecosystem ให้สมบูรณ์ในส่วนของพนักงานเองก็สามารถใช้งานได้ง่าย ๆ ผ่านแอป ttb touch ทั้งในส่วนของการบันทึกเวลาเข้า-เลิกงาน การจัดการวันลา การเบิกจ่าย / โอที รวมถึงการขออนุมัติต่าง ๆ
นอกจากนั้น นายปิติ กล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหาเรื่องหนี้ ซึ่งถือเป็นปัญหาการเงินอันดับหนึ่งที่เป็นอุปสรรคของไทยสู่การมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น โดยมีกลุ่มมนุษย์เงินเดือนเป็นหนึ่งในกลุ่มที่กำลังเผชิญปัญหาหนี้มากที่สุดและจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหากไม่มีการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ทีทีบีได้พัฒนาโซลูชันทางการเงินที่จะเน้นการช่วยมนุษย์เงินเดือนปลดหนี้ให้เกิดผลลัพธ์ได้จริงมากที่สุดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดธนาคารได้จัดทำ “โปรแกรมปลดหนี้ เพื่อพนักงานทีทีบี”
โดยจะมีกิจกรรมทั้งการตรวจสุขภาพการเงินออนไลน์และเรียนรู้วิชาการเงินที่เหมาะกับสุขภาพการเงินของแต่ละคนผ่าน E-Learning ที่เน้นเพิ่มภูมิคุ้มกันหนี้และเน้นรักษาปัญหาหนี้ ซึ่งหากพนักงานคนไหนมีอาการหนี้ที่น่าเป็นห่วงจะได้พบโค้ชปลดหนี้ เพื่อรับคำปรึกษาฟรีแบบตัวต่อตัว
โดยเราเชื่อว่าการเริ่มต้นสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีให้กับพนักงานในองค์กรจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งต่อชีวิตทางการเงินที่ดีให้กับผู้คนอื่น ๆ ในสังคมต่อไป และมีแผนจะขยายโปรแกรมนี้สู่กลุ่มลูกค้าและประชาชนทั่วไปในอนาคต
ด้าน นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวเสริมว่า “หนึ่งในโซลูชันเพื่อช่วยลูกค้าปลดหนี้ได้คือโปรแกรมรวบหนี้ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นตัวช่วยคนเป็นหนี้ให้มีสภาพคล่อง และลดภาระดอกเบี้ย โดยได้รับการตอบรับอย่างดี มีลูกค้าเข้าร่วมโปรแกรมรวบหนี้แล้วกว่า 5,000 ราย
วงเงินสินเชื่อรวม 3,600 ล้านบาท แบ่งเบาภาระดอกเบี้ยได้มากกว่า 400 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้พบว่าเป็นกลุ่มพนักงานเงินเดือนมากกว่า 95% ที่เข้าร่วมโปรแกรมรวบหนี้ อีกทั้งพบว่าประเภทหนี้ที่ลูกค้านำไปปิดบัญชีจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 50%
ตามมาด้วยหนี้บัตรเครดิต 47% จึงทำให้นอกจากการให้ตัวช่วยแล้วธนาคารยังมีเป้าหมายที่จะขยายการรับรู้และขยายความช่วยเหลือไปสู่กลุ่มผู้ที่ถูกปฏิเสธเพราะมีภาระหนี้สูง แต่ประวัติ การชำระเงินดีให้สามารถเข้าโปรแกรมรวบหนี้ได้
พร้อมด้วยการพัฒนาระบบในการเข้าร่วมโปรแกรมรวบหนี้ผ่านช่องทางดิจิทัลเพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการได้รับความสะดวกมากขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อตอกย้ำการเป็นธนาคารที่เข้ามาตอบโจทย์การมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของมนุษย์เงินเดือนได้จริง ทีทีบีได้นำเสนอสินเชื่อสวัสดิการอเนกประสงค์ ทีทีบี แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อเสริมสภาพคล่องและช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ดอกเบี้ยสูงให้ต่ำลง
เริ่มต้นที่ 7.99% ต่อปี และตั้งแต่ปี 2565 ทีทีบีได้ขยายตลาดสินเชื่อสวัสดิการอเนกประสงค์ฯ ด้วยการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการสินเชื่อสวัสดิการเพื่อพนักงานกับบริษัทเอกชน หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งปัจจุบันรวมแล้วกว่า 1,000 บริษัท มีจำนวนพนักงานราว 300,000 คน โดยทีทีบีตั้งเป้าหมายภารกิจช่วยคนไทยปลดหนี้ภายใน 3 ปี ผ่านโครงการรวบหนี้ 20,000 คน วงเงินรวบหนี้ 18,000 ล้านบาท ช่วยลดดอกเบี้ยได้ 2,000 ล้านบาท และช่วยเหลือพนักงานผ่านโครงการสินเชื่อสวัสดิการ ทีทีบี จำนวน 150,000 คน เป็นวงเงิน 30,000 ล้านบาท ช่วยลดดอกเบี้ยได้ 3,600 ล้านบาท” นายฐากร กล่าวในตอนท้าย