SCB CIO มองตลาดหุ้นไต้หวันปีนี้ปรับขึ้นตามภูมิภาคเอเชีย แม้มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ จับตา หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ รับอานิสงส์นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมประคองดัชนี
SCB CIO วิเคราะห์ผลเลือกตั้งหลัง นายไล่ ชิงเต๋อ พรรคหมินจิ้นตั๋ง ได้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีไต้หวันคนถัดไปแม้การผลักดันนโยบายและกฎหมายไม่ง่าย จากการที่ไม่ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งในสภานิติบัญญัติ ขณะที่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์อาจเพิ่มขึ้น แต่โอกาสไปสู่สงครามยังมีน้อย
มอง หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ AI กลุ่มเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พลังงานสีเขียว และกลุ่มสุขภาพ จะได้รับอานิสงส์สูงสุด จากนโยบายเน้นการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ คาดตลาดหุ้นไต้หวันปี 2567 จะปรับขึ้นใกล้เคียงกับตลาดหุ้นโซนเอเชีย
แม้มูลค่าหุ้นยังตึงตัว และเผชิญความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่ผลประกอบการตลาดหุ้นไต้หวันมีแนวโน้มกลับมาเติบโตได้ดีในปี 2567 และ 2568 โดยมีกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ช่วยประคองดัชนี ส่วนตลาดหุ้น A-Share และ H-Share แม้มูลค่าถูกลงมากแต่ยังเผชิญแรงกดดัน แนะถือต่อ หากมีอยู่ในพอร์ต แต่ไม่แนะนำให้สะสมหุ้นจีนเพิ่มในเวลานี้
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2567 นายไล่ ชิงเต๋อ ผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคหมินจิ้นตั๋ง หรือ DPP ได้คะแนนเสียงมากที่สุด 40.1% ได้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีไต้หวันคนถัดไปที่จะรับตำแหน่งต่อจากนางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
แต่ผลการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่ง หรือ 57 ที่นั่ง โดยพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ได้ที่นั่งมากที่สุด 52 ที่นั่ง ส่วน DPP ได้ 51 ที่นั่ง และพรรคไถวันหมินจ้งตั่ง (TPP) ได้ 8 ที่นั่ง จะทำให้การผลักดันนโยบายและกฎหมายต่างๆ ของพรรค DPP และนายไล่ชิงเต๋อ อาจเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น
ทั้งนี้ SCB CIO วิเคราะห์นโยบายมหภาคสำคัญที่พรรค DPP เสนอ ว่าที่ประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ เน้นการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น นโยบายสำคัญ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆ
โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี ด้านอสังหาริมทรัพย์และนโยบายทางสังคม จะปรับขึ้นภาษีอสังหาฯ ที่ถูกปล่อยว่าง แล้วสนับสนุนการซื้ออสังหาฯ ครั้งแรก พร้อมส่งเสริมที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม ด้านพลังงาน เน้นเพิ่มอุปทานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และ ด้านนโยบายการป้องกันประเทศ คงนโยบายช่องแคบไต้หวัน รักษาการติดต่อกับผู้นำจีน ซึ่งคาดว่า การใช้จ่ายป้องกันประเทศ คิดเป็น 2.5% ของ GDP ในปี 2567 และมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ นายไล่ ชิงเต๋อ ตั้งเป้าหมาย GDP ปี 2567 เติบโตไม่ต่ำกว่า 3.5% โดย SCB CIO คาดว่า GDP ไต้หวันปี 2567 จะขยายตัวดีกว่า ปี 2566 ที่ผลสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ (Consensus) คาดไว้ที่ 1.1% ด้วยแรงหนุนการฟื้นตัวของภาคการส่งออก
ส่วนด้านธนาคารกลางไต้หวัน (CBC) เรามองว่า มีแนวโน้มคงนโยบายการเงินตึงตัวเล็กน้อยถึงเป็นกลาง ส่วนนโยบายการคลัง คาดว่า รัฐบาลยังมีแนวโน้มผ่อนคลายทางการคลังต่อไป
“เรามองว่า ชัยชนะของพรรค DPP ครั้งนี้ อาจทำให้ความตึงเครียดระหว่างไต้หวันและจีน มีโอกาสสูงขึ้น แต่ยังมีโอกาสต่ำมากที่จะยกระดับสู่สงคราม เนื่องจาก นายไล่ ชิงเต๋อ ต้องการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับจีนมากขึ้น พร้อมย้ำเรื่องการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพร่วมกับรัฐบาลจีน
ขณะที่ สหรัฐฯ ก็ประกาศตัวไม่ได้สนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวัน ช่วยลดความกังวลของจีนลง อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาใกล้ชิดว่าจีนจะออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับไต้หวัน หรือซ้อมรบใกล้ช่องแคบไต้หวันหรือไม่ โดยเราคาดว่าจีนจะเลือกตอบโต้ทางการค้ามากกว่า” ดร.กำพล กล่าว
สำหรับกรณีเลวร้ายสุดที่มีโอกาสเกิดขึ้นต่ำมาก คือ การเกิดสงครามบริเวณช่องแคบไต้หวัน ซึ่งจะทำให้เกิดวิกฤตร้ายแรงห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลกหยุดชะงัก เกิดผลลบจากความเสี่ยงการเงิน และการค้า
โดย Bloomberg คาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจไต้หวันจะรับผลลบมากที่สุด กระทบ GDP ปีแรกที่เกิดสงครามสูงถึง 40.0% ตามด้วย เกาหลีใต้, ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน ซึ่งกระทบต่อ GDP ปีแรกที่เกิดสงคราม 23.3%, 20.1% และ 16.7% ตามลำดับ
ดร. กำพล กล่าวว่า จากผลการเลือกตั้งนโยบายของพรรค DPP เรามองว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ AI กลุ่มเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พลังงานสีเขียว และกลุ่มสุขภาพ จะได้รับอานิสงส์สูงสุด นำโดยเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากบนดัชนีหุ้นไต้หวัน (TWSE)
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไต้หวัน TWSE ปัจจุบัน มีหุ้นในดัชนีฯ ทั้งหมด 980 หุ้น โดยมีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ มีน้ำหนักในดัชนีฯ อยู่ที่ 38% และเมื่อรวมกับกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำทำให้น้ำหนักรวม คิดเป็นกว่า 50% ของดัชนีฯ ขณะที่ หุ้นที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากในดัชนีฯ คือ หุ้น TSMC ซึ่งมีน้ำหนักในดัชนีฯ ถึง 27% สำหรับสัดส่วนการถือครองของต่างชาติ (Foreign Ownership) ในตลาดหุ้นไต้หวัน ล่าสุด อยู่ที่ 38%
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไต้หวันยังถือเป็นตลาดที่นักลงทุนรายย่อยในประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในตลาด (market participation) ค่อนข้างมาก โดยนักลงทุนรายย่อยคิดเป็นราย 60% ของปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาด (turnover)
SCB CIO คาดว่า ตลาดหุ้นไต้หวันปี 2567 จะปรับขึ้นใกล้เคียงกับตลาดหุ้นโซนเอเชีย โดยแม้ว่าตลาดหุ้นไต้หวัน มูลค่าหุ้น (Valuation) ยังตึงตัวอยู่ ทั้งยังเผชิญความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ช่องแคบไต้หวันสูงขึ้น และธนาคารกลางไต้หวันยังไม่รีบลดดอกบี้ย แต่ผลประกอบการตลาดหุ้นไต้หวันมีแนวโน้มกลับมาเติบโตได้ดีในปี 2567 และ 2568 โดยมีกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ช่วยประคองดัชนี
ส่วนตลาดหุ้นจีนทั้ง A-Share และ H-Share เรามองว่า ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันจะซ้ำเติม Valuation ดัชนีหุ้นจีนที่แม้ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ถูกมากเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยในอดีต แต่ยังต้องติดตามประเด็นพัฒนาการเชิงบวกเพิ่มเติม จากความพยายามออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมของทางการเพื่อเยียวยาภาคอสังหาฯ กับบรรเทาความเสี่ยงเงินฝืด
และภาวะแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ผ่อนคลายความตึงเครียดลง ทั้งบนช่องแคบไต้หวัน และบนข้อพิพาทเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจหลัก เราจึงยังคงมุมมอง Neutral (ถือ) สำหรับผู้ที่ลงทุนอยู่แล้ว และยังไม่แนะนำให้สะสมหุ้นจีนเพิ่มในเวลานี้