บลจ.วรรณ เผยผลงานปี 66 AUM เติบโตได้ตามเป้าหมาย จากฐานลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล และดันกองทุน สินทรัพย์ทางเลือก ครองแชมป์อันดับ 1 ได้สำเร็จ เตรียมรุกตลาดภาคเอกชน ขยายธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
•เล็งออกกองทุน สินทรัพย์ทางเลือก เพิ่มอีกหลายกองทุนในปีนี้ เน้น ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ทางการเงินต่ำ
นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีที่ผ่าน บลจ.วรรณ มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ณ ธันวาคม 2566 เติบโตขึ้น อยู่ที่ 1.62 แสนล้านบาท โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจากธุรกิจกองทุนรวมอยู่ประมาณ 40% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 20% และกองทุนส่วนบุคคลประมาณ 40%
วางกลยุทธ์ด้วยสินทรัพย์ทางเลือก
ซึ่งบริษัทยังคงคำแนะนำให้จัดพอร์ตการลงทุนโดยกระจายสินทรัพย์ในการลงทุนในทุกๆ ประเภท(Asset Allocation) โดยเน้นวางกลยุทธ์ด้วยสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Asset) สร้างสมดุลให้พอร์ต ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งมีขึ้นเป็นระยะๆ ตลอดปีที่ผ่านมา
“ตลอด 4 ปี บริษัทเลือกวางกลยุทธ์การลงทุนโดยคงแนะนำให้กระจายเงินลงทุนบางส่วนในสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ทางการเงินต่ำผ่าน กองทุนเปิด วรรณ ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย โดยที่ผ่านมา เราเปิดเสนอขายไปทั้งหมด 6 กองทุน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
โดยเรามียอดขายรวมทั้งหมดประมาณหมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมยอดขายจากกองทุนส่วนบุคคล ทำให้บลจ.วรรณครองแชมป์ IPO กองทุนสินทรัพย์ทางเลือกที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม
โชว์ผลงานทริกเกอร์ตามเป้า
ส่วนความสำเร็จของปีนี้ เราสามารถบริหารกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ได้ก่อนเป้าหมายผ่านกองทุน ONE-GO1 โดยใช้ระยะเวลาเพียง 10 วันทำการ นับว่าเป็นการสร้างสถิติใหม่ของการบริหารกองทุนภายใต้การบริหารของบลจ.วรรณ ประเภททริกเกอร์ฟันด์ ที่เข้าเงื่อนเลิกโครงการก่อนกำหนดการ 5 เดือนจากที่ตั้งเป้าไว้ ” นายพจน์กล่าว
อย่างไรก็ดี ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่งการพิจารณานำเสนอกองทุนทางเลือกประเภทใหม่ โดยเน้นธีมผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ทางการเงินต่ำ หรือกองทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั่วไป
สำหรับการเสนอขายกองทุนในสินทรัพย์หลัก อาทิ ตราสารทุน ตราสารหนี้ ปีนี้บริษัทมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อปัจจัยเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยกดดันด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจมีความผ่อนคลาย และกลายเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น และอัตราเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งช่วยลดแรงกดดันการใช้นโยบายการเงินอย่างแข็งกร้าวได้อย่างดี
เน้นปรับพอร์ตให้สอดรับภาวะตลาด
“ ที่ผ่านมาเราได้ปรับพอร์ตการลงทุนให้ทันกับสภาวะตลาดอยู่เสมอ ซึ่งกองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทปีที่ผ่านจนถึงปัจจุบันนี้ อาทิ ONE-METAVERSE, ONE-GECOM, ONE-UGG-RA, ONE-UJE-RA และ ONE-GLOBFIN-RA มีผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสภาวะตลาด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50% 29% 27% 24% และ 22% ตามลำดับ
ซึ่งนโยบายการลงทุนของกองทุนเหล่านี้ เราปรับพอร์ตและคัดสรรการลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเทรนด์เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หุ้นเติบโตสูง และการเงินทั่วโลก รวมทั้งการจับจังหวะลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น” นายพจน์กล่าว
นายพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากธุรกิจกองทุนรวมแล้วบริษัทยังคงรักษาระดับการเติบโตทั้งลูกค้านิติบุคคลและสถาบันองค์กรขนาดใหญ่ รวมถึงตัวแทนผู้สนับสนุนการขาย (Selling Agents) ทั้งกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
โดยเฉพาะของกองทุนส่วนบุคคล ยังได้รับความไว้วางใจอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนสำคัญในการหนุนมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของบริษัทให้มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมขนาด AUM อยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท ปัจจุบันเติบโตขึ้นแตะระดับกว่า 6 หมื่นล้านบาท
รุกขยายฐานลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปีนี้ บริษัทมีแผนรุกขยายฐานลูกค้าในบริษัทภาคเอกชนเพิ่มขึ้น โดยนำร่องกองทุนต่างประเทศเป็นหลัก จากความเชื่อมั่นในการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ ที่เริ่มส่งสัญญาณในเชิงบวก โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอขายแก่สมาชิกกองทุนและลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลได้
“ที่ผ่านมาบริษัทจัดกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจน เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดยลูกค้าที่เป็น Selling Agents ปีนี้ บริษัทได้นำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้ารายย่อยผ่านกองทุนเปิด วรรณ อัลตร้า อินคัม พลัส ฟันด์ หน่วยลงทุนชนิดไม่จ่ายเงินปันผล สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป (ONE-ULTRAPLUS-RA)
ทั้งเพื่อเจาะกลุ่มประชาชนที่ต้องการลงทุน และต้องการสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองด้านประกันชีวิตและสุขภาพไปพร้อมกัน ฐานลูกค้ากลุ่ม online platform หรือ กลุ่มอาชีพอิสระ(freelance)
ซึ่งกองทุน ONE-ULTRAPLUS-RA จะสามารถตอบโจทย์การลงทุนในธีม Asset Allocation ในทุกๆ สินทรัพย์ได้ดี นอกจากนี้ เรายังคงมอบสิทธิประโยชน์ทางการตลาดต่อเนื่องกับระบบแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น ShopeePay เป็นต้น” นายพจน์กล่าว
ฉายภาพการลงทุนปี 67
ด้านนายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ เปิดเผยถึง ภาพการลงทุนว่า สำหรับปี 2567 ถ้ามองตามข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐาน เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวแต่ก็ยังมีอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา (3.1% ปี 2566)
โดยตัวแปรสำคัญขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของภาคการผลิตทั่วโลก ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นผ่านดัชนี global manufacturing PMI ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (กลับมาอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 16 เดือน) และมีความคาดหวังในเชิงบวกต่อการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Boom)
ชี้ปัจจัยเสี่ยงต้องติดตาม
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ยังคงให้น้ำหนักการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งบริษัทมองว่า เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการลงทุน โดยประเมินว่าวัฎจักรดอกเบี้ยขาลงของสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงแรก
เชื่อว่า Fed น่าจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงท้ายของไตรมาสที่ 2 และอาจปรับลดอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามลำดับ หากเป็นเช่นนั้นจริง มองว่าผลกระทบต่อการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักและตลาดเกิดใหม่อาจมีไม่มากนัก
ขณะที่ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ สงครามการสู้รบ และความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อจากฝั่งอุปทานที่ยังคงต้องติดตามตลอดปีนี้เช่นกัน
ตลาดหุ้นไทยระยะสั้นขาดปัจจัยบวก
สำหรับตลาดหุ้นไทย ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทย แต่อาจไม่ได้โดดเด่นเท่าช่วง 10 กว่าปีที่แล้ว โดยระยะสั้นตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม นอกจากความหวังว่าภาคเศรษฐกิจต่างประเทศจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อไป โดยเฉพาะจีนถ้าสามารถฟื้นตัวได้จะส่งผลบวกเป็นวงกว้างมายังภาคการท่องเที่ยว การลงทุน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย
อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลลบในช่วงต้นแต่จะดีในช่วงครึ่งปีหลังคือ ความล่าช้าของรัฐบาลในการจัดทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจากภาครัฐยังช้าเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว
ทั้งนี้ มองว่าในท้ายที่สุดภาครัฐบาลจะกลับมาเบิกจ่ายได้ตามปกติราวไตรมาสที่ 2 รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยในระยะยาวโดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่กำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
อีกทั้งยังไม่สามารถปรับตัวตอบสนองการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความต้องการสินค้าในตลาดการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปลี่ยนไป จึงไม่แปลกใจที่เห็นนักลงทุนต่างชาติเทขายตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง
ประเมินดัชนีเป้าหมายปีนี้ที่ 1,525 จุด
อย่างไรก็ดี การลงทุนในตลาดหุ้นไทยจึงต้องเน้นการคัดเลือกเป็นรายกลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ให้เหมาะสมกับวัฎจักรเศรษฐกิจในแต่ละช่วง มากกว่าการลงทุนที่ตัวดัชนีตลาด
เราประเมินดัชนีเป้าหมายของปีนี้ไว้ที่ 1,525 จุด อิง Fwd PER ที่ 16.24 เท่า บนสมมติฐาน EPS ที่ 93.87 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ตลาดหุ้นต่างประเทศ ยังแนะนำคัดเลือกกลุ่มการลงทุนโดยเน้น กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป เป็นต้น