NEWS

“โกลเบล็ก” ส่องเดือนมิ.ย.ลงทุนหุ้นนโยบายเที่ยวเมืองรอง

“โกลเบล็ก” ส่องเดือนมิ.ย.ลงทุนหุ้นนโยบายเที่ยวเมืองรอง

บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยเดือน มิ.ย.67 มีแนวโน้มแกว่งตัวผันผวน กังวลเฟดชะลอลดดอกเบี้ยหลังมีรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐออกมาดี พร้อมแนะจับตาสถานการณ์การเมืองในประเทศ

จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีที่ 1,300-1,360 จุด แนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้นได้ประโยชน์มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) ในจังหวัดท่องเที่ยวรอง ได้แก่ ERW-CENTEL-BA-AAVCPALL-TNP     

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือน มิ.ย.67 มีแนวโน้มแกว่งตัวผันผวน โดยมีแรงกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินคาดบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

ทำให้เกิดความกังวลว่า FED อาจจะชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ยังต้องติดตามประเด็นการเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิด จึงให้กรอบดัชนีที่ 1,300-1,360 จุด

โดยปัจจัยที่กดดันความเชื่อมั่นการลงทุนในเดือนนี้ ได้แก่ สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 272,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 185,000 ตำแหน่งและอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.9%

ทำให้มีโอกาสที่ FED จะไม่เร่งลดอัตราดอกเบี้ย ส่วนปัจจัยในประเทศ ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สรุปมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์สะสมตามกลุ่มนักลงทุนระหว่าง  1 มกราคม – 7  มิถุนายน 2567 พบว่านักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 88,204.79 ล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 1,461.18 ล้านบาท

ส่วนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,662.09 ล้านบาท และนักลงทุนในประเทศ ซื้อสุทธิ 88,003.88 ล้านบาท รวมทั้งปัจจัยการเมืองในประเทศที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นจากการเลือกส.ว. การพิจารณาคดีของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา

และการพิจารณาคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณ  และมีผลสำรวจของนิด้าโพลออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พอใจกับผลงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่าง 34.35% ระบุไม่ค่อยพอใจ รองลงมา 31.69% ระบุไม่พอใจเลย

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในประเทศ อาทิ วันที่ 12 มิ.ย. ประชุมกนง. ครั้งที่ 3/2567 มีลุ้นว่ากนง.จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยในการปะชุมรอบนี้หรือไม่ ศาลรธน. นัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล วันที่ 15-16 มิ.ย. ตลท. จัดงาน SET in the City 2024 สัปดาห์ที่ 3 สภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

แถลงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม วันที่ 16 มิ.ย. เลือกส.ว.ระดับจังหวัด วันที่ 19 มิ.ย. เปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ สัปดาห์ที่ 4 กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออก-นำเข้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) แถลงยอดผลิตและส่งออกรถยนต์ วันที่ 26 มิ.ย. เลือกส.ว.ระดับประเทศ และคาดว่ากกต.จะประกาศรายชื่อ ส.ว.ชุดใหม่ทั้ง 200 คนได้ราววันที่ 2 ก.ค.

ขณะที่ สถานการณ์ต่างประเทศที่น่าจับตา วันนี้ 11 มิ.ย. สหรัฐ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนพ.ค. วันที่ 12 มิ.ย. จีน รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค. และสหรัฐรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค. วันที่ 12-13 มิ.ย. ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED)

วันที่ 13 มิ.ย. อียู รายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. และสหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน พ.ค. วันที่ 14 มิ.ย. อียู รายงานดุลการค้าเดือนเม.ย. และสหรัฐรายงานราคานำเข้าและส่งออกเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนมิ.ย.

ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนหุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศนาน 7 เดือน คือ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา)

ในจังหวัดท่องเที่ยวรอง แบ่งเป็นพื้นที่ทั้งหมด 55 จังหวัดและพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก 15 จังหวัด ซึ่งมาตรการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ถึง 30 พ.ย. 2567 โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์ได้แก่ ERW, CENTEL, BA, AAV, CPALL และ  TNP

ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก ประเมินว่า แนวโน้มราคาทองคำในเดือนมิ.ย.นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 2,250-2,350 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากราคาทองคำตอบสนองต่อข่าวลบแรงกว่าข่าวบวก

ขณะที่นักลงทุนจับตาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงครึ่งปีหลัง ว่าจะมีการปรับลดเพิ่มเติมจาก 2 ครั้งในเดือน กันยายน และ พฤศจิกายนหรือไม่ ขณะที่ ECB ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งนำหน้าเฟดไปแล้ว

นอกจากนี้ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ลดลงจากไม่มีการขยายวงกว้างของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

ใส่ความเห็น