66 Tower
INSURANCE PROPERTY

เมืองไทยประกันชีวิต เปิดตัว “66 Tower” อาคารออฟฟิศเกรดเอ ตอบโจทย์ออฟฟิศสำหรับคนยุคใหม่ครบครัน

เมืองไทยประกันชีวิต จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เปิด “66 Tower” อาคารออฟฟิศเกรดเอ ย่านสุขุมวิท โดดเด่นด้วยทำเลศักยภาพ ง่ายต่อการเชื่อมต่อย่าน CBD ตอบโจทย์ออฟฟิศสำหรับคนยุคใหม่ครบครัน

เมืองไทยประกันชีวิต จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เปิด “66 Tower” The Living Workplace Solution อาคารออฟฟิศ เกรดเอ สูง 28 ชั้น ย่านสุขุมวิท สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “Human Centric Living Workplace” ที่เน้นการออกแบบพื้นที่ให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง พร้อมโดดเด่นด้วยทำเลศักยภาพ และง่ายต่อการเชื่อมต่อเศรษฐกิจชั้นในไปสู่ CBD Area ตอบโจทย์ออฟฟิศสำหรับคนยุคใหม่

นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL เปิดเผยว่า อาคาร “66 Tower” The Living Workplace Solution เป็นโครงการอาคารสำนักงานให้เช่าเกรดเอ ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท ใกล้ซอยสุขุมวิท 66 ภายใต้คอนเซปต์ Human Centric Living Workplace

มุ่งเน้นออกแบบพื้นที่โดยเน้นผู้ใช้งานอาคารเป็นศูนย์กลาง บนเนื้อที่ 4-2-32 ไร่ สูง 28 ชั้น พื้นที่เช่าทั้งหมดประมาณ 30,000 ตารางเมตร โครงการได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนตุลาคม ในปี 2564 ที่ผ่านมา

โดยมีบริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CBRE เป็นตัวแทนในการปล่อยเช่าพื้นที่สำนักงานหลักของโครงการ ปัจจุบันมีอัตราการปล่อยเช่า (Occupancy Rate) อยู่ที่ระดับ 60%

สำหรับ66 Tower มีจุดเด่นที่หลากหลาย ทั้งด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เน้นความทันสมัยควบคู่ไปกับความยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์การใช้พื้นที่ของผู้เช่า โดยโครงการเลือกใช้วัสดุที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและจัดให้มีพื้นที่สีเขียว ในโครงการ

สถานที่ตั้งซึ่งอยู่บนทำเลถนนสุขุมวิท ใกล้ซอยสุขุมวิท 66 ทำเลศักยภาพง่ายต่อการเชื่อมต่อย่านธุรกิจเศรษฐกิจชั้นใน (CBD: Central Business District) โซนธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor)

อีกทั้งสะดวกต่อการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าที่มีการสร้างสะพานเชื่อมโดยตรงกับรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) สถานีอุดมสุข เข้ามายังตัวตึก รถโดยสารประจำทาง รวมถึงยังใกล้จุดขึ้น-ลงทางด่วน ทั้ง 3 สาย (ทางด่วนเฉลิมมหานคร ทางด่วนฉลองรัช และทางด่วนบูรพาวิถี) และสามารถเดินทางไปยัง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างรวดเร็ว

ภายในโครงการยังเน้นความสำคัญของความสะดวกสบายในโครงการ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของผู้เช่าเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด ได้แก่ การออกแบบพื้นที่เช่าในรูปแบบ Column Free Design หรือพื้นที่เช่าแบบเปิดโล่งไม่มีเสากั้นกลางระหว่างพื้นที่ ทำให้ใช้พื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเกือบเต็ม 100%

ในส่วนของภายในอาคารยังได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย การจัดการพลังงาน และระบบการควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคารทั้งการกรองฝุ่น PM 2.5 และการฆ่าเชื้อโรคด้วยเทคโนโลยี UVGI (Ultraviolet Germicidal Irradiation) ในระบบปรับอากาศ มาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้ในโรงพยาบาลชั้นนำ และสนามบิน มาใช้อีกด้วย

นอกจากนี้ 66 Tower ได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงการอสังหาริมทรัพย์ การันตีด้วยรางวัลต่างๆ ที่ได้รับอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย รางวัล “Award Winner Office Development Thailand” และ “Best Office Architecture Thailand” จากงาน Asia Pacific Property Awards รางวัล “BSA Building Safety Awards 2022” เป็นต้น

ด้านนางสาวรุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “สถานการณ์ตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯเริ่มมีความคึกคักในปีที่ผ่านมา และในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีพื้นที่สำนักงานให้เช่าในตลาดเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 830,836 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของผู้เช่าในการเลือกสำนักงานที่ตอบโจทย์ความต้องการ

อีกทั้งจะทำให้ผู้เช่าได้เปรียบเป็นอย่างมากในการต่อรองหาเงื่อนไขการเช่าที่ดี อย่างไรก็ตาม อาคารสำนักงานยุคใหม่ที่ได้มาตรฐานระดับสากล คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 94% ของอาคารสำนักงานใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเพื่อให้เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

รวมถึงมุ่งเน้นสุขภาวะที่ดีของผู้เช่าพื้นที่สำนักงานและผู้ใช้อาคารเป็นสำคัญ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มแรงกระตุ้นไปยังอาคารสำนักงานเก่าที่มีอายุมากกว่า 25 ปี ซึ่งมีอยู่มากกว่า 60% หากอาคารเดิมที่ได้รับการดูแลอย่างดีผ่านการซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ให้รองรับกับมาตรฐานสากลจะสามารถรักษาจำนวนผู้เช่าบางส่วนไว้ได้ ทั้งนี้เรายังเห็นว่าในช่วงปลายปีที่ผ่านมามีความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่า เทรนด์น่าจะดำเนินต่อไปอีกในปีนี้”

ยักษ์ลงทุน

ใส่ความเห็น