KKP Research ชี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลง ปรับ GDP ปี 2568 จาก 3.0% เหลือ 2.6% และเหลือ 2.4% ในปี 2569 คาดมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่ม
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเจอปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายนและภายนอก หากไม่ปรับตัวมีความเสี่ยงเข้าสู่แนวโน้มขาลง โดยเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องแม้จะผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 โดยภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาเท่าศักยภาพเดิมที่ 3.0% – 3.5%
โดยไทยยังถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตได้ช้าที่สุดในภูมิภาค ASEAN ในช่วงหลังวิกฤติโควิด KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 2.6% ในปี 2568 และเติบโตได้ 2.4% ในปี 2569 โดยเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอลงในปีหน้าเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยระยะสั้นและระยะยาวไม่ว่าจะเป็น
(1) ปัญหาความสามารถในการแข่งขัน ที่สะท้อนจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่หดตัวลงต่อเนื่องมามากกว่าปีและยังมีความเสี่ยงชะลอตัวเพิ่มเติมโดยเฉพาะหากมีการปรับภาษีนำเข้าสินค้าขึ้นจากสหรัฐ ฯ ซึ่งจะส่งกระทบเพิ่มเติมต่อภาคการส่งออกไทย (2) ภาคบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ช้าลง หลังจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าใกล้ระดับปกติมากขึ้น
(3) การหดตัวของสินเชื่อในภาคธนาคารจะยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งจะกระทบกับการบริโภคในระยะข้างหน้า และ (4) การเข้าสู่สังคมสูงอายุ กดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
3 ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยโตต่ำ
เศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีแนวโน้มเผชิญกับการเติบโตต่ำจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่
1. ภาคบริการและการท่องเที่ยวจะไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจมากเท่าเดิม: การท่องเที่ยวซึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงฟื้นตัวเริ่มแสดงสัญญาณชะลอตัว ในช่วงตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564 เป็นต้นมา การท่องเที่ยวส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.2ppt เทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับเฉลี่ย 2.4% หรือการเติบโตเกือบทั้งหมดมาจากภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในปี 2568-2569 คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยเพียง 6.9% ต่อปี ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับการฟื้นตัวช่วงหลังการเปิดประเทศหลังโควิดที่โตได้กว่า 255%
2. ภาคการผลิตของไทยยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว: อุตสาหกรรมหลักของไทย คือ ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดโลก ตัวอย่างเช่น การผลิตรถยนต์ที่ลดลงกว่า 14% จากปี 2564 จากการเข้ามาแข่งขันของรถยนต์ค่ายจีน โดยการหดตัวของภาคการผลิตไทยในปี 2567 เกิดจากการหดตัวของการผลิตรถยนต์เป็นหลักในขณะที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวในสินค้ากลุ่มอื่นบ้างแล้ว
นอกจากนี้ การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหน่วยความจำแบบ SSD เข้ามาแทนที่ ส่งผลให้การผลิต HDD ลดลงกว่า 50% ตั้งแต่ปี 2564
3. ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและการลดลงของการปล่อยสินเชื่อใหม่: ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของ GDP ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น โดยหนี้ต่อ GDP ของไทยเริ่มปรับตัวลดลงจากสินเชื่อภาคธนาคารที่เติบโตติดลบ ส่งผลให้การบริโภคสินค้าคงทนในไทยหดตัวลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง
ปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐ
จากอุปสงค์ในประเทศที่ซบเซาและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินสดขนาดใหญ่ในปี 2567 และ 2568 ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยพอขยายตัวต่อได้ โดยแบ่งเป็น ระยะที่ 1: งบประมาณ 142,000 ล้านบาท (คิดเป็น 0.7% ของ GDP) ถูกใช้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ผ่านการแจกเงินสด 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง
ระยะที่ 2: รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 184,000 ล้านบาท (คิดเป็น 0.9% ของ GDP) จะถูกแจกเป็นเงินสดให้กับผู้สูงอายุ 5-8 ล้านคนภายในเดือนมกราคม
และระยะที่ 3: หลังจากสองระยะแรก ยังเหลืองบประมาณราว 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปแจกให้กับประชาชน 10 ล้านคนที่ลงทะเบียนในโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ปี 2568
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแจกเงินสดรอบใหม่ KKP Research คาดว่ามาตรการนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจัยสำคัญอื่น ๆ เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ สภาวะสินเชื่อที่เข้มงวดจากธนาคาร และการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังล่าช้า มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและผลกระทบต่อการบริโภคมากกว่าการแจกเงินสดเพียงครั้งเดียว
เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงโตได้ต่ำกว่าคาด
เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ยังมีความเสี่ยงโตต่ำกว่าที่ประเมินว่าจากความเสี่ยงของนโยบายภาษีของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ และเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯ มากเป็นลำดับต้น ๆ ของเอเชีย
โดยมีการส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ คิดเป็นประมาณ 9% ของ GDP และเกินดุลการค้ากับสหรัฐ ฯ อเมริกามูลค่ากว่าสี่หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นลำดับที่ 12 ของโลก และการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่อาจเป็นผลมาจากสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งอาจทำให้ไทยมีความเสี่ยงถูกมาตรการการค้าเพิ่มเติมได้
อย่างไรก็ดี นโยบายการค้าของสหรัฐยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก KKP ประเมินว่าการขึ้นภาษีนำเข้าขนาดใหญ่มีแนวโน้มใช้เพื่อเป็นเครื่องมือเจรจาต่อรองด้านการค้าระหว่างประเทศโดยสินค้าในกลุม Rerouting ที่นำเข้าจากจีนเพื่อส่งออกไป US มีแนวโน้มได้รับผลกระทบก่อน เช่น Solar Panel, Wifi Router ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากเพราะมูลค่าเพิ่มที่ถูกสร้างในประเทศอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจกระทบกับสินค้ากลุ่มอื่น ๆ เพิ่มเติม คือ
1) กลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐ ฯ หากมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า 10% กับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งจะกระทบสินค้าในกลุ่มเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ 2) กลุ่มสินค้าที่ไทยมีการคิดภาษีกับสหรัฐ ฯ สูงกว่าสหรัฐ ฯ คิดกับไทย โดยสหรัฐ ฯ มีแนวโน้มต่อรองให้ไทยลดภาษีนำเข้าสินค้าบางกลุ่มกับสหรัฐ ฯ ลงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม กระทบสินค้าในกลุ่มอาหารและภาคเกษตร ฯ
3) กลุ่มสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ในสถานการณ์ที่สหรัฐ ฯ ขึ้นภาษีกับประเทศจีนที่ 60% มากกว่าประเทศอื่น ๆ จะเป็นความเสี่ยงที่อาจเห็นสินค้าจีนทะลักเข้าสู่ตลาด ASEAN และไทยเพิ่มเติม สินค้าที่มีการขาดดุลเยอะในช่วงที่ผ่านมา คือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์และชิ้นส่วน
แบงค์ชาติลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า
KKP Research ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 3 ครั้งในปีหน้ามาที่ระดับ 1.5% จากระดับปัจจุบันที่ 2.25% แม้ว่าแนวทางการสื่อสารของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) จะมีท่าทีค่อนข้างเข้มงวด โดยเน้นย้ำว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่ผ่านมาเป็นการปรับสมดุลใหม่ (recalibration) ไม่ใช่การเริ่มต้นของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
อย่างไรก็ตาม KKP Research ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอ และภาวะทางการเงินในปัจจุบันมีตึงตัว โดยเฉพาะจากสินเชื่อภาคธนาคารที่หดตัวจนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
KKP Research ตั้งข้อสังเกตว่า ในระหว่างปี 2558-2562 เมื่อเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงต่ำกว่า 1% และการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 3-4% อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนั้นยังคงอยู่ที่ 1.5% อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเงินเฟ้อในปัจจุบันอ่อนแอพอๆกันกับช่วงปี 2558-2562 และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าในช่วงนั้นมาก แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายใน ปัจจุบันกลับสูงกว่าช่วงเวลาดังกล่าวมาก
ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อสังเกตว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอาจตึงตัวเกินไปเมื่อเทียบกับศักยภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประกอบกับเศรษฐกิจที่มีสัญญาณอ่อนแอลงและหนี้เสียที่เร่งตัวขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อธนาคารแห่งประเทศไทย
เกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เกิดขึ้นจากการร่วมกิจการระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินการโดย ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และธุรกิจตลาดทุนที่ดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เกียรตินาคินภัทร จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด โดยกลุ่มธุรกิจฯ มุ่งนำทรัพยากรสู่ลูกค้าอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเปี่ยมประสิทธิภาพด้วยบริการที่เหนือความคาดหมาย
ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มธุ
รกิจฯ ครอบคลุมสินเชื่อบรรษัท สินเชื่อธุรกิจอสัง หาริมทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อย เช่นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนธุรกิจด้านตลาดทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ครอบคลุมธุรกิจวานิชธนกิจ (Investment Banking) ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ธุรกิจการลงทุน (Direct Investment) ตลอดจนธุรกิจจัดการกองทุน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.kkpfg.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ
Post Views: 93