HEALTH

อว. โดย สกสว. เร่งเสริมทักษะนักวิจัยรุ่นใหม่ สาขาการแพทย์-สาธารณสุข หนุนการแข่งขันผลงานวิจัยไทยสู่เวทีอาเซียน

อว. โดย สกสว. เร่งเสริมทักษะนักวิจัยรุ่นใหม่ สาขาการแพทย์สาธารณสุข หนุนการแข่งขันผลงานวิจัยไทยสู่เวทีอาเซียน

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ Academy of Medical Sciences (AMS) และสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ร่วมพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ด้านการแพทย์และสาธารสุขในภูมิภาคอาเซียน

ซึ่งเป็นสาขาที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง และเป็นสาขาที่มุ่งเน้นในปี 2568 ของอาเซียน ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ “UK-SEA Workshop for Early-Career Health-related Researchers in Thailand” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงแหล่งทุนวิจัยในภูมิภาคอาเซียน และนานาชาติ ได้ทำความเข้าใจถึงบทบาทของหน่วยให้ทุน

รวมทั้งกลไกการขอทุน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเตรียมความพร้อมให้นักวิจัยรุ่นใหม่ในการขอทุนวิจัยในอนาคต ตลอดจนพัฒนาทักษะในการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอทุน (grant writing) ในระดับนานาชาติ การนำเสนอไอเดีย (pitching) และการสื่อสารวิทยาศาสตร์ (science communication) ตลอดจนการสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านการแพทย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว จำนวน 74 คน จาก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

ดร.ไซมอน เดเนกรี ผู้อำนวยการ Academy of Medical Sciences (AMS) กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านการแพทย์มีความสำคัญมาก เพื่อให้งานวิจัยด้านการแพทย์มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

ซึ่งการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของ AMS ที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับประเทศไทย และเป็นการทำงานกับ สกสว. ในรูปแบบพันธมิตรที่เท่าเทียม และหวังว่าจะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและการแพทย์มากขึ้น เกิดเครือข่ายนักวิจัยในอาเซียนต่อไป

ด้าน นางสาวชานดู เชาฮารี ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Science Innovation Network (SIN) กล่าวถึงบทบาทของ SIN ซึ่งมีอยู่ในไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

โดยสนับสนุนการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงสหราชอาณาจักร และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เกิดการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความท้าทายของโลก

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ มีอยู่ รองผู้อำนวยการ สกสว. ยังเสริมว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ในภูมิภาคฯ ที่จะได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นและสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมในภูมิภาคฯ

มุ่งเน้นทักษะในการเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอทุน (grant writing) การนำเสนอไอเดีย (pitching) และการสื่อสารวิทยาศาสตร์ (science communication) ตลอดจนการสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อประโยชน์ของสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม

ปัจจุบันมีทุนวิจัยหลากหลายประเภท ทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งแนวโน้มของทุนวิจัยในปัจจุบันเน้นความร่วมมือในรูปแบบพหุภาคี เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในเครือข่ายวิจัยและนำไปสู่การขอทุนขนาดใหญ่ในระดับนานาชาติได้

นอกเหนือจากการประชุมเชิงปฏิบัติการแล้ว คณะผู้จัดงานยังได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 15 คน ซึ่งมีสาขาการวิจัยตรงกับเป้าหมายมุ่งเน้นของอาเซียน เพื่อเยี่ยมชมศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช (SiMR) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้พบปะพูดคุยกับทีมคณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมทั้งเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการในศูนย์วิจัย เพื่อสร้างโอกาสในการทำความร่วมมือต่อไปในอนาคตด้วย

ยักษ์ลงทุน https://www.yaklongtun.com/

ใส่ความเห็น