NEWS

สคฝ. เผยสถิติ ณ สิ้นปี 67 คนไทยมีเงินฝาก 16.32 ล้านล้านบาท

สคฝ. เผยสถิติ ณ สิ้นปี 67 คนไทยมีเงินฝาก 16.32 ล้านล้านบาท  เปิดแผนคุ้มครองเงินฝากผ่านแนวคิด ‘READY & Prompt’ หนุนระบบปัญญาประดิษฐ์ เสริมความพร้อม คุ้มครองผู้ฝาก มุ่งรับเทรนด์การเงินดิจิทัล

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA เผยรายงานสถิติเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ณ สิ้นปี 2567 รวมกว่า 99.25 ล้านราย คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 4.75 หรือ 4.50 ล้านรายและจำนวนเงินฝากรวม 16.32 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 1.40 หรือ 0.22 ล้านล้านบาท

พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจคุ้มครองเงินฝากภายใต้แผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (2566–2570) ผ่านแนวคิด READY & Prompt ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเงิน ในยุคดิจิทัล

รวมถึงให้ความสำคัญกับผู้ฝากเป็นศูนย์กลาง (Depositor-Centric) ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการคุ้มครองเงินฝากและการบริหารจัดการองค์กร นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมรองรับการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) และเดินหน้าพัฒนาระบบงานที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)

เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการวางยุทธศาสตร์และเป้าหมายองค์กรที่ชัดเจนในระยะยาว เพื่อมอบความมั่นใจในทุกความไม่แน่นอนให้กับผู้ฝากและประชาชนได้อย่างยั่งยืน

ดร. มหัทธนะ อัมพรพิสิฏฐ์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวว่า “จากรายงานสถิติเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองปี 2567 พบว่าอัตราการเติบโตของเงินฝากในกลุ่มผู้ฝากที่เงินฝากน้อยกว่า 50,000 บาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสูงที่สุดถึงร้อยละ 4.84

ทั้งนี้ปัจจัยการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในผู้ฝากกลุ่มนี้มีผลมาจากโครงการเงินช่วยเหลือภาครัฐ ทำให้อัตราเงินฝากในเดือนกันยายน 2567 พุ่งขึ้นถึงร้อยละ 6.83 สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเดือนเดียวกัน ที่ร้อยละ 2.50

ในขณะที่ผู้ฝากกลุ่มที่มีเงินฝากมากกว่า 100 ล้านบาท มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรองลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.70 ซึ่งคาดว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในบัญชีประเภทเงินฝากประจำ เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการนำเงินมาพักเพื่อรอความชัดเจนของสภาพเศรษฐกิจ จึงส่งผลให้อัตราการเติบโตของเงินฝากกลุ่มนี้ยังคงเป็นบวกเมื่อเทียบกับปี 2566

สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเงินฝากในปี 2568 นี้คาดว่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ 1 – 3 สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากยังมีปัจจัยกระทบที่ไม่แน่นอนจากทั้งภายในและนอกประเทศ” 

ปัจจุบันผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน ภายใต้วงเงินคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 รายผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงินอยู่ที่ 97.46 ล้านราย คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 98.20 ของผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ

สะท้อนอันดับความสามารถในการคุ้มครองผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ในเอเชียและอันดับที่ 31 ของโลก และเพื่อให้ DPA มีความพร้อมในการเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย สร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

DPA จึงได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานภายใต้แนวคิด “READY & Prompt” มุ่งสู่ยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (ปี 2566 – 2570) “DPA พร้อม” โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพองค์กร ทั้งในด้านการจ่ายเงินคุ้มครอง และการชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้ผู้ฝากเงินได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ดี DPA ตั้งเป้าการจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝากส่วนใหญ่ภายใน 7 วันทำการสำหรับผู้ฝากที่ผูกบัญชี Prompt Pay กับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยจากผลศึกษาและเก็บข้อมูลสถิติในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2557 – 2566 ของสมาคมสถาบันประกันเงินฝากระหว่างประเทศพบว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนวันในการจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝากสามารถทำได้เร็วขึ้นจาก 28 วันเหลือเพียง 14 วัน

และพบว่ามีเหตุการณ์สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตรวม 13 สถาบันการเงิน ที่สถาบันประกันเงินฝากในต่างประเทศดำเนินการจ่ายเงินคุ้มครองให้กับผู้ฝากส่วนใหญ่ได้ภายใน 7 วันทำการ ทั้งนี้คำว่าผู้ฝากส่วนใหญ่นั้นจะต้องครอบคลุมผู้ฝากไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75  

ด้วยเหตุนี้ภารกิจของการเตรียมความพร้อมด้านการคุ้มครองเงินฝากของไทยจึงยิ่งมีความสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าหากเกิดเหตุการณ์ไม่แน่นอนใดๆ ขึ้นจนส่งผล กระทบถึงขั้นสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต DPA จะสามารถปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และทันต่อความคาดหวังของผู้ฝากและประชาชน DPA จึงได้กำหนดแนวทางกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด “READY & Prompt” ผ่าน 5 แนวทางหลัก 

R = Reimagine Confidence: สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ฝากและประชาชนตื่นตัวในการหาข้อมูลความรู้ทางการเงินและการคุ้มครองเงินฝากผ่านเนื้อหาในสื่อออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเป็นเกราะป้องกันในการรับมือกับสภาวะความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงภัยใกล้ตัวจากมิจฉาชีพที่แอบอ้างชื่อสถาบันคุ้มครองเงินฝากในการหลอกลวงประชาชน 

E = Engagement: ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการรับรู้ให้กับผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง ผู้ฝาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อ เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน 

A = Agility: ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม DPA Platform เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและรวดเร็วรองรับความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเงิน และตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเฉพาะการพัฒนาระบบปฏิบัติการต่างๆ ด้วยนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการทำงาน เพิ่มความคล่องตัว ลดภาระงานเอกสารและขั้นตอนการทำงาน ควบคู่ไปกับการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้พนักงานมีความพร้อมในการปรับตัวและปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน 

D = Digitalization and Data Analytic: มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล (Data-Driven) โดยเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ฝากเพื่อให้เข้าใจแนวโน้มและพฤติกรรมของผู้ฝาก ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการกำหนดกรอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานพันธกิจหลักของ DPA และการวางกลยุทธ์แผนปฏิบัติการจ่ายเงินคุ้มครองและการชำระบัญชี รวมถึงการวางกลยุทธ์ด้านการสื่อสารที่ตรงกับความหลากหลายของผู้ฝากและประชาชนมากยิ่งขึ้น

Y = Year-round Trust: มุ่งเป็นองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นและไว้วางใจ ด้วยระบบคุ้มครองเงินฝากที่มีเสถียรภาพ สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงและคุ้มครองผู้ฝากได้ตลอดเวลา

นอกจากแนวทางการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว DPA ยังมีการซักซ้อม (Simulation) ด้านการจ่ายเงินคุ้มครองและการชำระบัญชี บนพื้นฐานข้อมูลเสมือนจริงของสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นประจำทุกปี

รวมถึงการบริหารเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากให้มีการเติบโต มั่นคง และปลอดภัย ซึ่งมีเป้าหมายรายได้ปี 2568 อยู่ที่ร้อยละ 2.20 ปัจจุบันมูลค่าเงินกองทุนฯ อยู่ที่ 146,466.49 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 68) การดำเนินงานเตรียมความพร้อมในทุกด้านของ DPA สะท้อนจุดยืนและเป้าหมายที่สำคัญ เพื่อให้สามารถมอบความมั่นใจในทุกความไม่แน่นอนให้กับผู้ฝากและประชาชนได้อย่างแท้จริง

ผู้ฝากและประชาชนที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝากได้ที่ เว็บไซต์ www.dpa.or.th หรือช่องทางโซเชียลมีเดียได้ทาง Facebook, YouTube, Twitter, Line, LinkedIn เพียงกดค้นหา dpathailand หรือโทรสอบถามได้ที่ศูนย์ข้อมูลคุ้มครองเงินฝาก (DPA Contact Center) 115

ยักษ์ลงทุน https://www.yaklongtun.com/

ใส่ความเห็น