ICT NEWS

นักธุรกิจ นักวิชาการ หนุนการรวมตัวภาคเอกชนสู้ ‘Digital Disruption’ 

นักธุรกิจ นักวิชาการ ร่วมงานเสวนา The Disruption of Business, Competition and Transformation, Ready Now for the Future. “โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจ สู่อนาคต” ชี้แนวทางเตรียมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ย้ำภาครัฐ-หน่วยงานกำกับดูแล ต้องปรับตัวและเปิดรับฟังข้อมูลหนุนการผนึกกำลังของภาคเอกชนเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค สอดรับบริบทในการแข่งขันของโลกธุรกิจยุคใหม่ และสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันให้กับประเทศไทย 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มยุรี ศรีกุลวงศ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากกระแส Digital Disruption ทำให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ต้องเร่งปรับตัวให้พร้อมรับมือกับการแข่งขัน โดยการทำ Technology Transformation แบบจริงจัง ซึ่งเริ่มจากการปรับ Mindset และสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กรให้เห็นถึงความสำคัญของการทรานฟอร์มธุรกิจ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องสร้าง Ecosystem ที่เกื้อหนุนภาคธุรกิจด้วยการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงผู้ประกอบการในต่างอุตสาหกรรมมาร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างความมั่นคงและความได้เปรียบเชิงการแข่งขันให้กับประเทศไทย 

นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โทรคมนาคมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption ทำให้บริษัทฯ ต้องเตรียมความพร้อมทรานฟอร์มธุรกิจสู่การเป็น Tech Company โดยดิสรัปตัวเองที่ไม่เป็นเพียงผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม แต่ต้องเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างบริการใหม่ๆ เพื่อรับมือความท้าทายของโลกธุรกิจในยุคใหม่ เช่นเดียวกับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลในช่วงที่เกิดสถานการณ์ Digital Disruption จะต้องเปิดรับฟังข้อมูลและต้องปรับตัวมากที่สุด โดยกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทของโลกธุรกิจ ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสการแข่งขันกับต่างชาติ 

ปัจจัยสำคัญของการปรับตัวเพื่อให้พร้อมต่อการแข่งขันทางธุรกิจนอกจากทำความเข้าใจและรู้ทันเทคโนโลยี คือ การสร้างพันธมิตรและการผนึกกำลังกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ซึ่งการควบรวมกิจการอย่างเท่าเทียมระหว่าง TRUE กับ DTAC ถือว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะทำให้เกิดความพร้อมต่อการสร้างนวัตกรรมรองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุคใหม่ อันนำมาสู่ประโยชน์ต่อทุกฝ่ายโดยรวม และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาติรายใหญ่อย่างแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Facebook, LINE, Twitter และ TikTok ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ซึ่งใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศไทย แต่กลับไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายโทรคมนาคมและการกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความเสียเปรียบและสุดท้ายผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศจะเข้ามาครอบครองส่วนแบ่งตลาดแทนบริษัทคนไทยดังนั้นทั้งหมดนี้คือ ความสำคัญที่จะมอง ‘โทรคมนาคม’ เป็นเพียง ‘โทรคมนาคม’ ต่อไปไม่ได้ แต่ต้องมองเป็น Tech Telecom ที่ไม่ได้มีผู้เล่นเพียง 3-4 ราย แต่มีผู้เล่นมากกว่า 10 ราย ทั้งในและต่างประเทศที่เป็น Global Player แต่อยู่นอกการกำกับดูแลของโทรคมนาคม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทรูต้องมีการ Disrupt ธุรกิจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้วยการควบรวมกับพันธมิตรเพื่อปรับตัวเป็นเทคคอมปานี 

“เรามีเป้าหมายที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มของคนไทยให้สามารถแข่งขันได้กับแพลตฟอร์มระดับโลก ด้วยการสร้าง Ecosystem และสนับสนุนธุรกิจสตาร์อัพในไทยให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งสะท้อนแนวทางการปรับตัวของธุรกิจให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและประเทศชาติ” นายณัฐวุฒิ กล่าว 

นายพุฒิกานต์ เอารัตน์ กรรมการผู้จัดการ Chief Digital Asset บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัดและ Head of People and Branding SCB 10X กล่าวว่า กลุ่มบริษัทฯ ได้ปรับตัวทางธุรกิจอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพราะมองเห็นว่าหากไม่ปรับตั้งแต่วันนี้ ก็มีโอกาสสูงที่จะถูก Disruption จาก FinTech ซึ่งจะเห็นว่าในปัจจุบัน SCBX ไม่ได้เป็นแค่ธนาคารพาณิชย์ แต่เป็น Tech Company ที่ต่อยอดไปสู่การให้บริการอื่นๆ เช่น แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ อย่าง Robinhood, การให้บริการสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มการให้บริการเทคโนโลยีทางการเงินรวมไปถึงการรุกสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ด้วยวิชั่นของ SCBX ต้องการขยายฐานลูกค้าให้มากกว่า 100 ล้านคน เพื่อก้าวสู่การเป็น Global Player ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

มร.จอนโอมุนด์ เรฟฮัก Senior Vice President เทเลนอร์กรุ๊ป ภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า เทเลนอร์ยังคงเดินหน้าลงทุนในภูมิภาคเอเชียและยืนยันที่จะทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมองทั้งปัจจัยเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่ต้องเอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ มีกฎกติกาที่เป็นธรรม มีความชัดเจนและต่อเนื่องในระยะยาว เนื่องจากการลงทุนด้านเทเลคอมต้องใช้เงินลงทุนสูง ทั้งการขอใบอนุญาตและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขณะเดียวกันก็มองว่าปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแกนหลักของการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย ซึ่งการที่เทเลนอร์จะควบรวมเพื่อปรับตัวเป็น Tech Company นั้น เป็นวิถีปกติในการปรับตัวทางธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะเป็นแนวทางที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้ามากกว่าการเป็นผู้ให้บริการมือถือ โดยจะนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะเป็นส่วนสำคัญของชีวิตในการก้าวสู่วิถีดิจิทัลทั้งในเอเชียและประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่จะมีโอกาสเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนอย่างแน่นอน 

ใส่ความเห็น