วันที่ 19 ก.ค. 2565 ที่ประชุมคณะทำงานพหุภาคีฯ 11 หน่วยงานประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวง สรุปข้อเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณากำหนดให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย สร้างระบบให้ประชาชนเลือกสมัครบริการปฏิเสธไม่รับสายที่โทรมาจากต่างประเทศให้เร็วที่สุด โดยเบื้องต้นทางที่ประชุมคณะทำงานพหุภาคีฯ เสนอว่าจะให้ผู้ประกอบการทำระบบฯ ให้เสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งบอร์ด กสทช. จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าน่าจะต้องเร็วกว่านั้นหรือไม่ อย่างไร
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานคณะทำงานพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวง กล่าวว่า วันนี้ (19 ก.ค. 2565) ที่ประชุมคณะทำงานพหุภาคีฯ ได้ข้อสรุปในการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวง โดยที่ประชุมฯ จะเสนอให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณากำหนดในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายสร้างระบบหรือแอปพลิเคชั่นที่ให้ประชาชนสามารถเลือกสมัครบริการปฏิเสธไม่รับสายที่โทรมาจากต่างประเทศได้ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากมิจฉาชีพ โดยประชาชนที่ไม่มีธุระ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อกับต่างประเทศ สามารถเลือกบริการที่จะไม่รับสายที่โทรมาจากต่างประเทศได้ เพื่อเป็นการป้องกัน ลดความเดือดร้อนให้กับประชาชน และแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินงาน คณะทำงานฯ จะเร่งผลักดันให้เกิดผลต่อไป
นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะทำงานพหุภาคีฯ ได้เน้นย้ำความสำคัญของการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน โดยให้โอเปอเรเตอร์ใส่เครื่องหมาย + นำหน้าทุกเลขหมายที่โทรเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมีการแยกแยะ เช่น หากมีสายเรียกเข้าขึ้นต้นด้วย +697 แสดงว่าเป็นเบอร์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาจากต้นทาง และเบอร์ที่ขึ้นต้นด้วย +698 เป็นสายที่โทรจากเบอร์มือถือไทยที่ใช้บริการโรมมิ่ง แล้วโทรกลับมาเมืองไทยจากต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนแยกแยะออก ซึ่งหากประชาชนไม่มีครอบครัวหรือธุระติดต่อกับต่างประเทศก็ควรจะระมัดระวังหากจะรับสาย
“ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ SMS หลอกลวง จะเห็นว่ามีข่าวการจับกุม แก๊งมิจฉาชีพที่ใช้อุปกรณ์โทรไปหลอกลวงประชาชนมาดำเนินคดี โดยใช้ข้อมูลเบาะแสจากประชาชน และความร่วมมือของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงาน กสทช. และโอเปอเรเตอร์ เพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ” นายประวิทย์ กล่าว