NEWS

BMN เดินหน้าขยาย “Metro Mall” ในสถานีรถไฟฟ้า MRT เตรียมเปิด Metro Art – เพิ่มจุดพักรถบนทางด่วน

นายวิทสุวัฒน์ อำคาเพท กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอกเมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ BMN (บริษัทลูก บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนปรับปรุงโครงการ Metro Mall หรือพื้นที่ร้านค้าภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT ให้มีร้านค้าที่จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้น

โดยปัจจุบัน Metro Mall เปิดให้บริการใน 8 สถานี ได้แก่ สถานีคลองเตย, สถานีสุขุมวิท, สถานีเพชรบุรี, สถานีพระราม 9, สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, สถานีพหลโยธิน, สถานีจตุจักร และสถานีกำแพงเพชร ขณะที่ปัจจุบันร้านค้าต่าง ๆ ได้กลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้วประมาณ 90% หลังจากก่อนหน้านี้ปิดให้บริการชั่วคราวในช่วงเกิดสถานการณ์โรคโควิด

ส่วนแผนปี 66 บริษัทเตรียมเปิด Metro Mall เพิ่มขึ้น ภายในสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และสถานีลาดพร้าว ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาออกแบบพื้นที่สถานีละประมาณ 1,000 ตร.ม. โดยปัจจุบันทั้ง 2 สถานีดังกล่าวเริ่มเปิดให้บริการร้านค้าแล้วบางส่วน เช่น สถานีลาดพร้าวมีกูร์เมต์ มาร์เก็ต ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เกตภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT แห่งแรกของไทย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนา Metro Art ที่สถานีพหลโยธิน ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านศิลปะแขนงต่างๆ ร่วมกับศิลปินระดับมาสเตอร์ของประเทศไทย ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการจัดแสดงผลงานศิลปะในสถานีรถไฟฟ้า โดยจะมีประกวดวาดภาพ การถ่ายรูป ฯลฯ และมีกิจกรรมเชิงศิลปะทุกเดือนตลอดทั้งปี ให้กลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะปรับปรุง Rest Area จุดพักรถบนทางพิเศษ (ด่วน) ศรีรัช (แจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด) หลังด่านประชาชื่นขาออก และจุดพักรถขนาดเล็ก บริเวณด่านประชาชื่นขาเข้า ด่านศรีนครินทร์ และด่านบางปะอิน ซึ่งจะขยายพื้นที่ให้บริการ เพิ่มเติมร้านค้า และปรับปรุงห้องน้ำให้สะอาด และสวยงามมากขึ้น รวมทั้งยังเตรียมทำจุดพักรถที่ด่านฉิมพลีด้วย

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 65 คาดว่าบริษัทจะมีรายได้เติบโตมากกว่าปี 64 แต่คงไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะบริษัทฯ ยังคงดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาร้านค้าต่างๆ อยู่ ซึ่งตั้งแต่เกิดโควิด-19 ได้ลดอัตราค่าเช่าให้คู่ค้า 50% มากว่า 2 ปีแล้ว โดยบางร้านก็ขอปิดเพื่อไม่จ่ายค่าเช่า อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ไม่ได้มองเรื่องรายได้อย่างเดียว แต่มองด้วยว่าทำอย่างไรจะให้ร้านค้าต่างๆ อยู่ได้ และสามารถมอบความสุขในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสารด้วย ดังนั้นจึงยังคงลดค่าเช่าให้แก่ร้านค้าไปจนกว่าปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT จะเท่ากับปริมาณผู้โดยสารในปี 62 ก่อนเกิดโควิด-19 โดยขณะนี้ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT เริ่มกลับมาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2 แสนคนต่อวัน คิดเป็นประมาณ 80% ของผู้โดยสารปี 62

 

ใส่ความเห็น