Key Highlights
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. ชะลอลงมาสู่ระดับ 6.41% (YoY) จากเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่ชะลอลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงตามความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง และจากผลของฐานในปีก่อนที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดปรับขึ้นจากจากฝนที่ตกหนักทำให้ราคาผักและผลไม้ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อนที่ 3.12% (YoY)
- Krungthai COMPASS คาดอัตราเงินเฟ้อช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มชะลอลงแต่จะยังคงสูงกว่า 5% จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะหมวดอาหารสำเร็จรูปที่ทยอยปรับเพิ่มต่อเนื่องซึ่งเป็นสินค้าที่ค่อนข้างปรับลดลงได้ยาก ประกอบกับมีผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย.–ธ.ค.
อีกทั้งยังมีปัจจัยกดดันจากปัญหาอุทกภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาอาหารสด จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงไปอีกระยะหนึ่ง
ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง
Krungthai COMPASS
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. ชะลอลงที่ 6.41% จากราคาหมวดพลังงานที่ปรับลดลงจากเดือนก่อน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. อยู่ที่ 6.41% (YoY) ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 7.86% (YoY) ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 6.6% [1]ปัจจัยหลักจากเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่ชะลอลงมาสู่ 16.1% (YoY) เทียบกับ 30.5% (YoY) เมื่อเดือน ส.ค. เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่องตามความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง และจากผลของฐานในปีก่อนที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันขายปลีกและมาตรการช่วยเหลือค่าไฟของภาครัฐในปีก่อนที่สิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดปรับขึ้นเล็กน้อยที่ 10.97% (YoY) เทียบกับ 10.32% (YoY) เมื่อเดือน ส.ค. จากฝนตกหนักและน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูกส่งผลให้ราคาผักและผลไม้ปรับสูงขึ้น และจากต้นทุนวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ราคาไข่และเนื้อสัตว์ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) ทรงตัวจากเดือนก่อนที่ 3.12% (YoY) โดยราคาอาหารสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาเครื่องประกอบอาหารชะลอลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 9 เดือนแรกของปีเฉลี่ยอยู่ที่ 6.17% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.26%
Implication:
- Krungthai COMPASS คาดอัตราเงินเฟ้อช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มชะลอลงแต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 5% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางที่ชะลอลงและคาดว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เนื่องจากผลของฐานปีก่อนที่ปรับสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน และมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟของภาครัฐในปีก่อนที่สิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีจะมีแนวโน้มอยู่สูงกว่า 5% จากอัตราเงินเฟ้อหมวดพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงาน) ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะหมวดอาหารสำเร็จรูป (สัดส่วน 15.4% ของตะกร้าเงินเฟ้อ) ที่ทยอยปรับเพิ่มต่อเนื่องและเป็นสินค้าที่ราคาปรับลงยาก
นอกจากนี้มีผลจากการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย.–ธ.ค. จากเดิม 4.03 บาทต่อหน่วย เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย จากต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติ อีกทั้ง ยังมีปัจจัยกดดันจากปัญหาอุทกภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาอาหารสดซึ่งเป็นกลุ่มที่ราคามีความผันผวนสูง จึงทำให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงไปอีกสักระยะหนึ่ง
[1] อ้างอิงจาก Reuter Polls (as of Oct 2022)