NEWS

นักอ่านต้อนรับงานมหกรรมหนังสือ ยอดขายพุ่ง 347 ล้านบาท

นักอ่านต้อนรับงานมหกรรมหนังสือครั้งที่ 27 กลับบ้าน

ด้วยยอดขาย 347 ล้านบาท 12 วันผู้เข้าชมงาน 1.3 ล้านคน

สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เผยตัวเลขผู้เข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ภายใต้คอนเซปต์ BOOKTOPIA หลังการกลับมาจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง โดยตลอดการจัดงาน 12 วันมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน 1,355,893 คน สร้างยอดขาย 347 ล้านบาท หมวดหนังสือนิยายและวรรณกรรมครองแชมป์ขายดี ตามมาด้วยหนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น

นางสาวทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวว่า มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ภายใต้คอนเซปต์ “BOOKTOPIA: มหานครนักอ่าน เพราะการอ่านคือจุดเริ่มต้นของการสร้างเมือง”

ในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่กลับมาจัดงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง พบตัวเลขที่น่าสนใจจากการสรุปภาพรวมงานทั้งหมด ได้แก่ ผู้เข้าร่วมชมงานจำนวน 1,355,893 คน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดอย่างวันหยุดต่อเนื่องในสัปดาห์แรกและวันเสาร์-อาทิตย์ของสัปดาห์ที่สอง สร้างรายได้ให้กับสำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมงานจำนวน 347,331,734 ล้านบาท

ซึ่งเพิ่มสูงขึ้น 74% เมื่อเทียบกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50ฯ ที่จัดไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังของการอ่านที่เริ่มฟื้นตัว และผู้คนยังนิยมการอ่านหนังสือในรูปแบบรูปเล่มอยู่มากพอสมควร สำหรับหมวดหนังสือขายดีได้แก่หมวดหนังสือนิยายและวรรณกรรม และหนังสือการ์ตูนและวัยรุ่นตามลำดับ

“ตลอดการจัดงานทั้ง 12 วันพบว่าความต้องการอ่านหนังสือของผู้คนยังคงคึกคัก แม้จะเป็นวันธรรมดาแต่ก็มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาชมงานกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเริ่มเปิดงาน โดยความเห็นบางส่วนของผู้เข้าร่วมงานพบว่ารู้สึกพอใจกับการเดินทางที่สะดวกสบาย เข้าถึงง่าย

และหลายคนรอคอยให้กลับมาจัดงานที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์ มีนักอ่านหลากหลายกลุ่มช่วงวัยแวะเวียนมาถามหาหนังสือหรือสำนักพิมพ์ที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนักอ่านชาวต่างชาติที่ต้องการหาหนังสือต่างประเทศด้วย

จากกลุ่มหมวดหนังสือนิยายและวรรณกรรมที่เป็นหมวดขายดีอันดับหนึ่งนั้น นอกจากงานวรรณกรรมจากนักเขียนชั้นครูหลายท่านแล้ว ในกลุ่มของนิยายวายที่เกิดจากฝีมือนักเขียนรุ่นใหม่ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งได้รับความนิยมจากนักอ่านเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ควบคู่ไปกับการมีนักแสดงวัยรุ่นที่มีกลุ่มแฟนคลับที่ช่วยกระตุ้นกระแสการอ่านของคนรุ่นใหม่ ขณะที่หมวดหนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น ในปีนี้มีหลายสำนักพิมพ์ที่ประสบความสำเร็จจากการจำหน่ายหนังสือและของที่ระลึกแบบลิมิเต็ดอิดิชั่น โดยมีแฟนคลับที่ต้องการสะสมมาต่อคิวเพื่อเข้าไปซื้อในทุกรอบเวลาที่สำนักพิมพ์จัดจำหน่าย”

ส่วนกิจกรรมที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้จัดขึ้นเป็นพิเศษ มีผู้ให้ความสนใจตลอดทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ BOOKTOPIA ที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และพลังของการมีส่วนร่วม โดยเปิดให้นักอ่านได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเมืองหนังสือในฝัน ก็มีผู้แสดงความคิดเห็นกันเต็มบอร์ดนิทรรศการ ซึ่งทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จะรวบรวมความคิดเห็นเหล่านี้เพื่อส่งต่อยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะที่โซนถนนนักอ่าน (Reader Road) ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมกับสมาคมป้ายยา เพื่อจัดกิจกรรมมากมายในโซนดังกล่าว ก็มีนักอ่านร่วมกิจกรรมต่างๆ ทุกวัน ทั้ง Envelope letters on the wall เขียนความในใจใส่ซองจดหมายติดไว้บนกำแพงในบูธ Book Blind Date แลกเปลี่ยนหนังสือ หรือ Book Playlist จัดลิสต์หนังสือตามหัวข้อและอารมณ์ที่พร้อมจะส่งต่อให้นักอ่านคนอื่นๆ ได้อ่านตาม

อีกกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมาก แม้จะจัดแค่ไม่กี่วันคือ “หนังสือมนุษย์ : Human Book” ในโซน กิจกรรม Live-Brary โดย PUBAT x ความสุขประเทศไทย x ธนาคารจิตอาสา x กางใจ Creation ขณะเดียวกันเวทีกลางที่แต่ละสำนักพิมพ์หมุนเวียนกันมาจัดกิจกรรมนั้น ก็มีผู้คนมานั่งฟังกันอย่างต่อเนื่องตลอดทุกวัน

“บางสำนักพิมพ์เพิ่งเคยมาออกงานหนังสือแบบนี้เป็นครั้งแรก ก็ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ และอินไซต์ของนักอ่านเพิ่มมากขึ้นเพราะก่อนนี้จำหน่ายเพียงแค่รูปแบบออนไลน์ทำให้ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากนัก หรือบางสำนักพิมพ์ก็ได้โอกาสสร้างลูกค้าใหม่จากงานนี้นอกเหนือจากแฟนคลับเดิม

ซึ่งการได้พูดคุยพบปะกับผู้อ่านโดยตรงทำให้สำนักพิมพ์ได้กลับไปวางแผนสำหรับการคัดเลือกหนังสือเพื่อมาจำหน่ายในครั้งต่อไป และนักอ่านเตรียมพบกันใหม่ได้ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 21 วันที่ 30 มีนาคม-9 เมษายน 2566

ณ ฮอลล์ 5-7 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก็จะนำความเห็นจากผู้อ่านจากการเข้าร่วมงานครั้งนี้ไปพัฒนาสำหรับงานครั้งหน้าต่อไป” นางสาวทิพย์สุดา กล่าวสรุป

ใส่ความเห็น