จัดทำโดย
นางสาวสุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์
ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
Key Findings:
· ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555 – 2565) พบว่า ในช่วง 8 ปีแรก (ปี 2555 – 2562) กำไรสุทธิรวมทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก่อนลดลงมากในปี 2563 ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 บริษัทจดทะเบียนไทยปรับตัวตอบรับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว กอปรกับราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิในปี 2564 กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดไปอยู่ที่ระดับสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท ทำสถิติสูงสุดใหม่นับตั้งแต่เปิดตลาด
· ในปี 2565 กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจากรายงานผลประกอบการล่าสุด พบว่า กำไรสุทธิสำหรับช่วง 9 เดือนของปี 2565 สูงกว่า 811,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
· บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นไปตามผลประกอบการ และผลจากกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 และต่อเนื่องในปี 2565 ทำให้ในปี 2565 บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายเงินปันผลรวมสูงกว่า 645,622 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน 564 บริษัท รวม 846 ครั้ง
· 3 หมวดธุรกิจที่มีการจ่ายเงินปันผลด้วยมูลค่าสูงสุดในปี 2565 ได้แก่ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดธนาคาร หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
· ในช่วงเทศกาลจ่ายเงินปันผลในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2565 บริษัทจดทะเบียนมีการจ่ายเงินปันผลรวม 530 ครั้ง หรือคิดเป็น 62.6% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลทั้งหมดในปี 2565 โดยในเดือนพฤษภาคม 2565 มีจำนวนครั้งในการจ่ายเงินปันผลมากที่สุด รวม 441 ครั้ง หรือคิดเป็น 52.1% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลทั้งหมดในปี 2565
· จากข้อมูลกำไรสุทธิรวมในปี 2565 ของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คาดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในช่วงเวลาก่อนประกาศจ่ายเงินปันผล เป็นช่วงเวลาสำคัญที่นักลงทุนจะคัดเลือกหุ้นปันผลและเลือกจังหวะเวลาในการเข้าซื้อหุ้นปันผลเข้าพอร์ตการลงทุนของตน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลตามเป้าหมายที่วางไว้
จากสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่อยู่ในภาวะถดถอย อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับสูงส่งผลให้อำนาจซื้อในมือลดลง โดยดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนที่สูงสุดของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ คืออยู่ในช่วง 0.20% – 1.90% และจากการพิจารณาผลตอบแทนจากเงินปันผล ณ สิ้นปี ของบริษัทจดทะเบียนไทยในปี 2561 – 2565 (ตารางที่ 1) พบว่า ในทุกปีที่ทำการศึกษาผลตอบแทนจากเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (SET) สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน โดยสูงประมาณ 1.3 เท่าของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนที่สูงสุดของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ[1] และ ณ สิ้นปี 2565 บริษัทจดทะเบียนในบางอุตสาหกรรมให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงกว่า 5 เท่าของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลเป็นทางเลือกหนึ่งการเคลื่อนย้ายเงินออมบางส่วนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น
[1] คำนวณจากอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของ SET หารด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนที่สูงสุดของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ
และในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ของทุกปีเป็นเทศกาลจ่ายเงินปันผล ที่บริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทจะมีการพิจารณาจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยอ้างอิงผลประกอบการของปีก่อนหน้าหรืองวดของผลประกอบการตามนโยบายการจ่ายเงินปันผล ดังนั้น ในรายงานนี้จึงสรุปสถิติสำคัญเกี่ยวกับกำไรของบริษัทจดทะเบียน การจ่ายเงินปันผล เพื่อเป็นข้อมูลให้นักลงทุนเตรียมตัวในการจัดสรรเงินลงทุนในหุ้นปันผล โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับจังหวะเวลาในการเข้าซื้อหุ้นเข้าพอร์ตของตนเองด้วย
[1] คำนวณจากอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของ SET หารด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนที่สูงสุดของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก เศรษฐกิจไทย ตลอดจนผลประกอบของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ) โดยจากการศึกษากำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนฯ (ภาพที่ 1) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555 – 2564) พบว่า กำไรสุทธิรวมทั้งหมดของบริษัท จดทะเบียนไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะได้รับผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนไทยมีการปรับตัวตอบรับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว กอปรกับราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิในปี 2564 กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท ทำสถิติสูงสุดใหม่นับตั้งแต่เปิดตลาด และกลับมาสูงกว่ากำไรสุทธิรวมของบริษัทจดทะเบียนไทยก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และเติบโตต่อเนื่องในปี 2565 โดยกำไรสุทธิสำหรับช่วง 9 เดือนของปี 2565 อยู่ที่ระดับ 811,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556 – 2565) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจ่ายเงินปันผลให้ผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเติบโตของกำไรสุทธิรวมของบริษัทจดทะเบียน โดยมีมูลค่าเงินปันผลที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้นกว่า 5.12 ล้านล้านบาท และในปี 2565 มีการจ่ายเงินปันผลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีมูลค่าเงินปันผลจ่ายสูงถึง 645,622 ล้านบาท (ภาพที่ 2)
โดยในปี 2565 มีการจ่ายเงินปันผลรวมให้แก่ผู้ถือหุ้นรวม 846 ครั้ง จากบริษัทจดทะเบียน 564 บริษัท (บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จ่ายเงินปันผลปีละครั้ง บางบริษัทจ่ายปีละ 2 ครั้ง หรือ 4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของแต่ละบริษัท โดยในช่วงเทศกาลจ่ายเงินปันผลในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2565 มีการจ่ายเงินปันผลรวม 530 ครั้ง หรือคิดเป็น 62.6% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลทั้งหมดในปี 2565 โดยในเดือนพฤษภาคม 2565 มีจำนวนครั้งในการจ่ายเงินปันผลมากที่สุด รวม 441 ครั้ง หรือคิดเป็น 52.1% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลทั้งหมดในปี 2565 และในแต่ละปีจะมีเทศกาลจ่ายเงินปันผลอีกหนึ่งรอบในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี ซึ่งในเดือนกันยายน 2565 มีการจ่ายเงินปันผลรวม 180 ครั้ง หรือประมาณ 21.3% ของจำนวนการจ่ายเงินปันผลในปี 2565
เมื่อพิจารณามูลค่าการจ่ายเงินปันผลในปี 2565 ตามหมวดธุรกิจ พบว่า 3 หมวดธุรกิจที่มีการจ่ายเงินปันผลด้วยมูลค่าสูงสุดในปี 2565 ได้แก่ หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดธนาคาร หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
จากที่กล่าวมาข้างต้นอาจสรุปได้ว่า บริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิรวมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคาดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นตามกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้น และคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมีการจ่ายเงินปันผลในช่วงเวลาเดิมของทุกปี คือประมาณเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2566 ดังนั้น ในช่วงเวลาก่อนประกาศจ่ายเงินปันผล เป็นช่วงเวลาสำคัญที่นักลงทุนจะคัดเลือกหุ้นปันผลและเลือกจังหวะเวลาในการเข้าซื้อหุ้นปันผลเข้าพอร์ตการลงทุนของตน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลตามเป้าหมายที่วางไว้