นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK เปิดเผยว่า ในปี 2566 นี้ บริษัทฯ เตรียมเดินหน้าลุยขยายธุรกิจตามแผนยุทธศาสตร์ พร้อมสร้าง Synergy การทำงานแบบ 360 องศา ร่วมกับบริษัทในเครือผ่านการทำ Cross-selling และ Up-selling ระหว่างกันซึ่งจะช่วยให้อัตรากำไรเบื้องต้นของกลุ่มบริษัทในเครือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเสริมแกร่งกลุ่มบริการหลักและสร้างเสถียรภาพการเติบโตของผลประกอบการในระยะยาว อาทิ การรุกขยายธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์และโซลูชันเพื่อเพิ่มสัดส่วน Recurring Income เป็นต้น อีกทั้งยังมีการตั้งเป้าลดต้นทุนการดำเนินงานจาก Economy of Scale พร้อมยกระดับภาพลักษณ์ของบริษัทฯ ทั้งในฝั่งลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจและพนักงาน ผ่านการขยายธุรกิจด้วยการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions – M&A)
บริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นมีงาน Backlog เฉพาะกลุ่มธุรกิจเดิม (ณ สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา) มูลค่ารวมกว่า 454 ล้านบาท โดยเตรียมรับรู้รายได้ในปีนี้ 303 ล้านบาท และที่เหลือจะทยอยรับรู้รายได้ในปี 2567 – 2571 นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ยื่นขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับ บริษัท วัลแคน ดิจิทัล เดลิเวอรี่ จำกัด ซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติใน 2H/66 และเตรียมยื่นขอรับสิทธิเพิ่มให้แก่ บริษัท อินโนวิซ โซลูชั่นส์ จำกัด ในปีถัดไป ดังนั้นอัตราทำกำไรของกลุ่มบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ
“บลูบิคมีแผนการลงทุนเพิ่มเติมผ่านดีลใหม่ๆ และขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรามองว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการเติบโตระยะยาว เพราะตลาดต่างประเทศมีขนาดที่ใหญ่กว่าไทยหลายเท่าตัว อีกทั้งบลูบิคยังมี ข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างราคาที่ดีกว่าคู่แข่งรายอื่น ในขณะที่คุณภาพงานไม่แพ้ใคร ทำให้เราได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในประเทศนั้นๆ อีกด้วย” นายพชร กล่าว
ส่วนภาพรวมการเติบโตของผลการดำเนินงานปี 2565 สูงกว่าเป้าหมายที่เคยวางไว้ก่อนหน้านี้ที่ 70% โดยมีกำไรสุทธิที่ 131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากกำไรสุทธิในปี 2564 ที่ 66 ล้านบาท เป็นผลมาจากการขยายกิจการไปยังธุรกิจที่มีศักยภาพและช่วยเสริมแกร่งให้กับกลุ่มบริการหลัก นอกจากนี้ความต้องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจยังคงเติบโตแรงต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ผลประกอบการของบริษัทฯ เติบโตแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2560 – 2565 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) 70% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน
“ในปี 2565 ถือเป็นปีแห่งการขยายกิจการอย่างจริงจังทั้งในและต่างประเทศ ผ่านแผนการควบรวมกิจการ การจัดตั้งกิจการร่วมค้า และการเปิดบริษัทย่อย รวมทั้งสิ้นถึง 9 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุดบริษัทฯ มีการเตรียมพร้อมด้านกำลังพลผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่เพิ่มขึ้นจาก 350 เป็นเกือบ 800 คน หลังผนึก VDD และ Innoviz เสร็จสิ้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้รายได้และกำไรของทั้ง 2 บริษัทจะบันทึกเข้ามาในไตรมาสแรกของปีนี้เลย ดังนั้นผลประกอบการ Q1 คาดว่าน่าจะทำนิวไฮได้อีกครั้ง และภาพรวมของรายได้ปี 66 จะเป็นไปอย่างน่าจับตามองแน่นอน” นายพชรกล่าว
ด้านผลการดำเนินงานประจำปี 2565 รายได้รวมของกลุ่มบริษัทฯ อยู่ที่ 564 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86% และมี กำไรสุทธิ 131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 304 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 66 ล้านบาท โดยอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ของปี 2565 อยู่ที่ 23% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 22% แต่ทั้งนี้ หากพิจารณาหักค่าใช้จ่าย one-time ในส่วนของที่ปรึกษาทางการเงินและกฎหมายในการเข้าซื้อกิจการของ 2 บริษัทใหญ่ ได้แก่ บริษัท อินโนวิซ โซลูชั่นส์ จำกัด และ และบริษัท วัลแคน ดิจิทัล เดลิเวอรี่ จำกัด จำนวน 9 ล้านบาท ที่บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในปี 2565 จะทำให้กำไรสุทธิปี 2565 จากการดำเนินงานปกติเพิ่มขึ้นเป็น 138 ล้านบาท หรือเติบโตมากกว่า 108% (YoY) นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทในเครือยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI ได้แก่ บริษัท จีเอ็มวีพาย จำกัด บริษัท ออร์บิท ดิจิทัล จำกัด บริษัท บลูบิค แอดเดนด้า จำกัด และกลุ่มธุรกิจ DX ของบลูบิค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้กำไรของบริษัทฯ เพิ่มขึ้น อีกทั้งการขยายการให้บริการไปยังประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย อังกฤษ และเวียดนาม ยังทำให้รายได้จากต่างประเทศในปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 8% ของรายได้รวมของบริษัทฯ อีกด้วย
บริษัทฯ ระบุว่า การฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจทำให้ภาคธุรกิจมีความต้องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และลงทุนในเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้การเติบโตของกลุ่มบริการหลักในปี 2565 ออกมาเป็นที่น่าพอใจ นำโดยธุรกิจการพัฒนาระบบดิจิทัลและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี (Digital Excellence and Delivery – DX) ยังคงครองสัดส่วนบริการที่ทำรายได้สูงสุด โดยมีรายได้เติบโต 65% คิดเป็น 349 ล้านบาท ตามด้วยธุรกิจให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ (Management Consulting – MC) ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 36% เป็น 83 ล้านบาท ธุรกิจการจัดการด้านข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Big Data, Advanced Analytics & Artificial Intelligence – AI) ที่รายได้เติบโตถึง 142% เป็น 69 ล้านบาท และธุรกิจการบริหารโครงการเชิงกลยุทธ์ศาสตร์ (Strategic PMO) มีรายได้เพิ่มขึ้น 1,863% คิดเป็น 64 ล้านบาท ตามลำดับ