ThaiBMA เผยไตรมาส 1 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคเอกชนมีความต้องการออกหุ้นกู้เพื่อรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และล็อกต้นทุนทางการเงิน โดยมูลค่าการออก ตราสารหนี้ ภาคเอกชนระยะยาวเท่ากับ 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนมูลค่าคงค้างตลาด ตราสารหนี้ ไทยขยายตัว 2.0% จากสิ้นปีที่ผ่านมา
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยเติบโตได้ต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2566 ขยายตัว 2.0% จากสิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 16.1 ล้านล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ ที่ออกโดยรัฐบาลและภาคเอกชนเป็นสำคัญ
ด้านการออก ตราสารหนี้ ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้) ในไตรมาส 1 ปี 2566 เท่ากับ 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีการเสนอขายหุ้นกู้ต่อนักลงทุนทั่วไป (PO: Public Offering) ในสัดส่วน 43% ของยอดการออกรวม สูงขึ้นจาก 28% ในปี 2565
สำหรับ Basel III Bond ที่มีการออกและเสนอขายในประเทศเป็นประเภท AT2 ทั้งหมด โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2566 มีมูลค่าคงค้างรวม 1.7 แสนล้านบาท จาก 23 รุ่น ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ไทย 8 แห่ง ซึ่งมีเงินกองทุนและสถานะของธนาคารในด้านต่างๆ ที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้เหตุการณ์ความไม่มั่นใจใน AT1 ในต่างประเทศ ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการซื้อขายที่ผิดปกติของตราสารหนี้ประเภทดังกล่าวในประเทศไทย
กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในเดือนมกราคม ปี 2566 นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิต่อเนื่องจากสิ้นปีที่แล้ว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นการขายสุทธิในเดือนกุมภาพันธ์จากความกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ภายหลังการประกาศตัวเลขการจ้างงาน ที่สะท้อนถึงเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัวได้ดี
ถัดมาในเดือนมีนาคม เป็นการกลับเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทย จากความกังวลในเหตุการณ์ธนาคารของสหรัฐฯ และยุโรป เมื่อรวมทั้งไตรมาส 1 ปี 2566 นักลงทุนต่างชาติมียอดการขายสุทธิสะสมที่ 2.3 หมื่นล้านบาท
โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 นักลงทุนต่างชาติมียอดการถือครองตราสารหนี้ไทยที่ 1.05 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.5% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย อายุคงเหลือเฉลี่ยตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างชาติถือครองเท่ากับ 7.8 ปี ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อนหน้า
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ในไตรมาส 1 ปี 2566 มีความชัดลดลง โดยรุ่นอายุไม่เกิน 5 ปี ปรับตัวสูงขึ้นตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัดราดอกเบี้ยนโยบาย
ในขณะที่รุ่นอายุมากกว่า 5 ปี มีการปรับตัวลดลงจากคาดการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มต่ำลง โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2566 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 18 bps. จากสิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 1.81% ส่วน Bond yield 10 ปี ปรับตัวลดลง 23 bps. มาอยู่ที่ 2.41%
อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) อายุ 5 ปีของหุ้นกู้ค่อนข้างทรงตัวในไตรมาส 1 ปี 2566 โดยอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้อายุ 5 ปี สูงขึ้น 2-14 bps. ในทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล
ยกเว้นกลุ่มอันดับเครดิต AA ที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2566 อันดับเครดิต AAA ปรับตัวมาอยู่ที่ 2.76% AA ที่ 2.97% A ที่ 3.28% BBB+ ที่ 4.45% และ BBB ที่ 5.05%
ทั้งนี้ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้กล่าวถึง ผลสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของผู้ร่วมตลาดในรอบนี้ ที่ส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งไปสู่ระดับ 2.00%
นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า Bond yield รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี จะปรับตัวสูงขึ้นจาก ณ สิ้นไตรมาส 1 เฉลี่ยประมาณ 20 bps. ในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 2023 ตามทิศทางการคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และไทย โดยปลายปี 2023 คาดว่า Bond yield 5 ปี จะขยับขึ้นไปที่ 2.18% และ 10 ปี ขยับขึ้นไปที่ 2.61%
ในโอกาสนี้ คุณอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้เปิดตัวหลักสูตรเรียนรู้ออนไลน์ “Investor e-learning platform” เพื่อเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับการลงทุน ตราสารหนี้ให้แก่ประชาชนและผู้สนใจได้ศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ครอบคลุมสาระความรู้ที่สำคัญที่ถูกออกแบบให้เนื้อหาเข้าใจง่าย แบ่งเป็น module ต่างๆ ให้นักลงทุนเลือกเรียนได้ตามหัวข้อที่ต้องการ