FUND

มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป

“มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป และผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศไทย” โดย ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

รู้หรือไม่…มาตรการ CBAM มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปอย่างไร และสำคัญต่อบริษัทจดทะเบียนอย่างไร รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนควรทำอย่างไรเพื่อรองรับกับมาตรการนี้

ด้วยสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญกับการรักษาความสมดุลของสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยมีมาตราการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

สหภาพยุโรปก็เช่นกันซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่มีมาตรการในการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มข้น โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 สหภาพยุโรปได้นำ “กลไกซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” มาใช้เป็นภาคบังคับแห่งแรกของโลก

“CBAM” คือ อะไร?? “CBAM” คือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment) หนึ่งในมาตรการสำคัญภายใต้ Fit For 55 ซึ่งสหภาพยุโรปได้ประกาศใช้ภายใต้นโยบาย the European Green deal

(พร้อมทั้งการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ปี 2050) ล่าสุดรัฐสภายุโรปมีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย CBAM (เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2566) และอยู่ระหว่างออกกฎหมายลำดับรอง

โดยในช่วงแรกจะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2668 หรือที่เรียกว่า “ช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional period)” นั่นหมายถึง ผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลปริมาณสินค้าที่นำเข้าและการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต (Embedded Emissions)

และจะเริ่มบังคับให้ผู้นำเข้าต้องซื้อใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ตามปริมาณจริงของการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป

สำหรับในช่วงเปลี่ยนผ่าน สหภาพยุโรปจะบังคับใช้กับสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ (1) เหล็กและเหล็กกล้า (2) อะลูมิเนียม (3) ซีเมนต์ (4) ปุ๋ย (5) ไฟฟ้า และ (6) ไฮโดรเจน (ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ บางรายการด้วย

เช่น นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า และสายเคเบิลที่ทำจากอะลูมิเนียม) นอกจากนี้ การฝ่าฝืนไม่รายงานข้อมูล Embedded Emissions จากการนำเข้าสินค้า อาจมีโทษปรับระหว่าง 10 – 50 ยูโรต่อตันคาร์บอน

มาตรการ CBAM อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้นำเข้าสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง หรือไม่สามารถวัดปริมาณในการปล่อยคาร์บอนดังกล่าวได้ ทำให้ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป

ต้องทำการตรวจวัด ทวนสอบ และจัดทำรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต และเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้ประเทศคู่ค้าต้องพัฒนากระบวนการผลิตที่คาร์บอนต่ำ

จำเป็นต้องยกระดับมาตรการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศในอนาคต อีกทั้ง ยังกดดันปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เช่น ความเสี่ยงทางธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การระดมทุน และการตัดสินใจของนักลงทุน

ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยตลอดจนธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของกระบวนการผลิตต่าง ๆ ทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอีกด้วย

สำหรับข้อมูลการส่งออกจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยส่งออกสินค้าตามรายการ CBAM ไปยังสหภาพยุโรป เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 425.41 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 14,712.33 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.49 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังสหภาพยุโรป

ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการขับเคลื่อนให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ดำเนินกิจการที่คำนึงถึงประเด็นด้าน ESG และผลักดันให้ บจ. ผนวกเรื่อง ESG เข้ามาในกระบวนการผลิต

รวมถึงส่งเสริมให้มีการรายงานใน One-Report มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการเตรียมตัวรองรับมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงมาตรการในต่างประเทศซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทต่อประเทศไทยมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจรายที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่มีปริมาณสูง

ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป ควรจะเริ่มศึกษาวิธีการคำนวณคาร์บอนดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจวัด ทวนสอบ และจัดทำรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต

รวมถึงแสวงหาโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green finance) และวางแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตสินค้าส่งออกของตนเอง เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรในกระบวนการผลิต

การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ บจ. สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ในภาคตลาดทุน การให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ESG จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุน และสนับสนุนให้ตลาดทุนเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

รวมถึง การขับเคลื่อนประเทศไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 ต่อไป

ยักษ์ลงทุน

ใส่ความเห็น