NEWS

“อัศวิน พละพงศ์พานิช” เล็งเป้าใหญ่ “DeeMoney” ฟินเทคไทย จาก Startup สู่ตลาดการเงินระดับโลก

ชีวิตและธุรกิจต้องไม่หยุดพัฒนา “อัศวิน พละพงศ์พานิช” ตั้งเป้าหมายใหญ่  “DeeMoney” ฟินเทคไทย จาก Startup สู่ตลาดการเงินระดับโลก

ช่วงนี้แวดวงฟินเทคน่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะมีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้กับการเงินในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในสินค้าและบริการ รวมถึงการแก้ปัญหาทางการเงินในปัจจุบัน สำหรับแวดวงนี้เรามีภาคเอกชนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลได้แก่

บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด หรือ DeeMoney ฟินเทคสัญชาติไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการโอนเงินระหว่างประเทศ ภายใต้ชื่อ DeeMoney” ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ให้บริการลูกค้ามากกว่า 1 ล้านบัญชี รองรับมากกว่า 26 สกุลเงิน และครอบคลุมมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

หลายคนอาจจะสงสัยว่าใครคือผู้ผลักดันอยู่เบื้องหลัง DeeMoney ที่ทำให้ฟินเทคสัญชาติไทยนี้เติบโตและแข็งแกร่งในภูมิภาคจนเป็นที่ยอมรับในแวดวงการเงินปัจจุบัน เราจะพามาเปิดเผยเรื่องราวที่ไม่เคยพูดคุยที่ไหนมาก่อนกับ CEO คนนี้

“คุณอัศวิน พละพงศ์พานิช” ผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DeeMoney กับความมุ่งมั่นอย่างตั้งใจว่าต้องการให้ฟินเทคสัญชาติไทยแท้นี้ได้เติบโตไปไกลระดับโลก

นี่คือประโยคสนทนากับ คุณอัศวิน พละพงศ์พานิช “เริ่มบริษัทฟินเทค DeeMoney ขึ้นจากเดิมประวัติความเป็นมาก็คือได้ไปเรียน Engineering แล้วก็ Computer Science จากอเมริกา พอกลับมาก็อยากทำธุรกิจของตัวเอง เพราะว่าไม่อยากไปเป็นพนักงานบริษัท มันไม่ใช่สไตล์ของเรา

ซึ่งถือว่าในตอนนั้นเป็น Startup ยุคแรกๆ ของเมืองไทย โดยที่เริ่มทำธุรกิจบัตรโทรศัพท์กับวอยซ์โอเวอร์ไอพี คือการที่คนเพิ่งรู้จักการใช้โทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตในยุคแรกๆ โดยใช้เทคโนโลยีวอยซ์โอเวอร์ไอพี ซึ่งถือว่าธุรกิจของเราเป็นอันดับหนึ่งสำหรับธุรกิจบัตรโทรศัพท์ของเมืองไทยในยุคนั้น

จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของฟินเทคอย่าง DeeMoney เพราะเราต้องการเปลี่ยนเทคโนโลยีและเปลี่ยนความคิด เราเห็นโอกาสทางธุรกิจที่จะไปได้ต่อจึงเปลี่ยนเป็นธุรกิจฟินเทคที่มุ่งเน้นเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยเป็นบริษัทยุคแรกๆ ที่ได้ใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินแต่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือธนาคาร (Non Bank) 

แล้วก็พัฒนาระบบเพื่อที่จะทำเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศ หลังจากนั้นก็มาเป็นแอปพลิเคชันแรกในเมืองไทยที่สามารถโอนเงินได้ผ่านมือถือเพื่อทำให้ชีวิตสะดวกง่ายขึ้น จนวันนี้ก็ถือว่าเป็นผู้นำในตลาดโอนเงินระหว่างประเทศแล้ว”

ที่ผ่านมา DeeMoney มีความเกี่ยวข้องกับตลาดการโอนเงินระหว่างประเทศ โดย “คุณอัศวิน” ตั้งเป้ามุ่งมั่นพัฒนาตัวเองและธุรกิจเพื่อทะยานสู่ตลาดการเงินระดับโลก เหมือนกับคติประจำตัวหลักที่ตั้งใจว่าจะไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

“ผมว่าคนที่ใช้ DeeMoney ถือว่าเป็นกลุ่มระดับสากลแน่นอน เพราะว่าการที่ลูกค้าเชื่อใจในการใช้บริการ “การเงิน” กับเราต้องมั่นใจว่าบริการของเรานั้นเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล แม้เป็นบริษัทฟินเทคสัญชาติไทยก็ตาม ตอนนี้เราพัฒนา  ตัวเองไปสู่ตลาดโลกในแง่ของใบอนุญาตต่างประเทศ

หรือการที่เราขยายธุรกิจไปต่างประเทศก็นับว่าเป็นก้าวต่อไปในฐานะบริษัทระดับสากลเป็นที่เรียบร้อย สิ่งเหล่านี้เป็นความตั้งใจเหมือนกับแนวคิดของตัวเองที่ว่าจะพัฒนาตัวเองตลอดเวลาตลอดชีวิต ซึ่งก็คือ Innovate Everyday ตอนนี้บอกตัวเองว่าวันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน ทุกอย่างต้องดีขึ้นก้าวหน้าขึ้น”

ปัจจุบัน DeeMoney กำลังเติบโตในตลาดโลก ทำให้ “คุณอัศวิน” ก้าวขึ้นแท่นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง แม้จะทำงานหนักแบบนี้แต่ก็มีมุมส่วนตัวเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นอกจากจะต้องทำงานหนักแล้วยังต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้นำครอบครัวอีกด้วย

“ผมว่าทุกคนที่เป็น Startup มักจะเจอปัญหาเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวที่แยกออกจากกันได้ยาก เพราะว่าตัวเราอาจจะอยู่บ้านแต่สมองและความคิดเราอาจนึกถึงแต่เรื่องงาน นึกถึงพนักงานตลอดหรือคิดถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผมว่าดีเอ็นเอของคนที่เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจ Startup จะแยกได้ยาก

ถ้าหากต้องการพักผ่อนจริงๆ จะใช้วันหยุดช่วงเทศกาลไปเลย ก็คืออาจจะเดินทางไกลหรือไปที่ไหนที่ระบบอินเทอร์เน็ตไม่ค่อยดีปิดสวิตช์โดยธรรมชาติ ถ้าเครียดมากก็ขับรถเองแต่ถ้าแบบรีแลคซ์ก็ไปกับครอบครัว นอกจากนี้ในวันทำงานตื่นมาตอนเช้าก็คือจะเช็คค่าเงินก่อนเลยว่าค่าเงินบาทหรือดอลลาร์ขึ้นลงเท่าไหร่

เพราะว่าปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่กระทบธุรกิจของ DeeMoney โดยตรงก็คือเรื่อง “อัตราแลกเปลี่ยน” จนวันนี้เป็นความเคยชินแล้ว รู้แล้วว่าโอกาสที่ค่าเงินบาทหรือดอลลาร์จะขึ้นหรือลงนั้น สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไรก็เป็นอะไรที่ลุ้นและสนุกอยู่ทุกวัน”

แม้ว่าปัจจุบัน “คุณอัศวิน” บริหารงานคู่กับ ภรรยา “คุณเมก้า – รัศเมฆ ศรีเศรษฐี” ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็น MD บริษัท DeeMoney แต่กว่าจะสามารถทำงานเป็นพาร์ทเนอร์ชิพที่เข้าอกเข้าใจกันมากขนาดนี้ ก่อนหน้าก็มีปัญหาในทุกๆ วันที่ต้องเรียนรู้ปรับจูนกันกว่าจะลงตัวเหมือนเช่นทุกวันนี้

“ผมว่าเป็นอะไรที่เราต้องเรียนรู้กันทุกวัน ปรับจูนกันทุกวันเพราะว่า Startup DeeMoney ในตอนต้นที่เพิ่งเปิดตัวแรกๆ ถือว่าทีมงานมีน้อยมากต้องทำเองทุกอย่าง เรียกได้ว่าผู้ก่อตั้งทั้งสองหรือทีมคู่สามีภรรยาวุ่นวายมาก ความเห็นเราก็จะมีที่ไม่ตรงกัน แต่ตอนนี้ถือว่าเรามีทีมแล้ว ต่อให้จะเปิดอีก 10 Startup ก็รู้จักกันดีแล้วไม่ต้องจูนอะไรกันมากแล้ว”

สุดท้ายนี้ “คุณอัศวิน” มองภาพไกลๆ ของ DeeMoney ในอนาคตว่า ตลาดฟินเทคเป็นอะไรที่กว้างมาก การที่ลูกค้าประทับใจแบรนด์หรือสินค้าและบริการของเรา จะส่งผลให้สินค้าและบริการเติบโตไปได้ดีในอนาคต โดยที่อาจจะพัฒนาเป็น ธนาคารเสมือนจริง (Virtual Bank) ต่อไป

หรือจะพัฒนาให้กลายเป็นกระเป๋าเงินในหลากหลายสกุลเงิน ก็คือจะเป็นบริการทางการเงินต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ฟินเทคทั้งหมด และทิ้งท้ายไว้ว่าความปรารถนาหรือเป้าหมายของ DeeMoney คือความฝันที่อยากสร้างแบรนด์ของคนไทยที่มีคุณภาพ ทัดเทียมแบรนด์ระดับสากลให้ดังไกลไปทั่วโลก

ใส่ความเห็น