“KTMS” ติดปีก ไตรมาสที่ 1/2567 เปิดศูนย์ไตเทียม 3 แห่ง เม.ย.นี้ จ่อผนึก รพ.เอกชนรายใหญ่ ผุดศูนย์ฯให้บริการเพิ่ม มั่นใจรายได้ปีนี้ แตะ 600 ล้านบาท
บมจ.เคที เมดิคอล เซอร์วิส หรือ KTMS เดินเกมรุก ไตรมาส 1/2567 บุกหนักเตรียมเปิดศูนย์ไตเทียม 3 แห่ง ล่าสุด เปิดศูนย์ไตเทียม รพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นที่เรียบร้อย พร้อมรับรู้รายได้ทันที
ส่งซิก เม.ย.นี้ จ่อผนึกรพ.เอกชนรายใหญ่ เปิดศูนย์ไตเทียมเพื่อให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเพิ่ม ปูพรมขยายศูนย์ไตเทียมในปีนี้เพิ่ม 5-8 แห่งตามแผน หวังตอบโจทย์ให้บริการผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี
ชี้ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้น 1.6 ล้านคน ตั้งเป้า 2 ปีข้างหน้า (2567-2568 ) เล็งขยายหน่วยฯ แตะ 40-50 สาขา ขณะที่เครื่องฟอกไตให้ครบ 400-500 เครื่อง ประกาศขอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วยการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
นางสาวกาญจนา พงศ์พัฒนะเดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคที เมดิคอล เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “KTMS” ผู้นำด้านการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและระบบผลิตน้ำบริสุทธิ์ สำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมทั้งการขายและการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แบบครบวงจร (One-stop Services) เปิดเผยว่า
แนวโน้มตัวเลขผู้ป่วยโรคไตมีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยฯ อยู่ที่ประมาณ 11.6 ล้านคน โดยมีผู้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉลี่ยประมาณ 1 แสนคน และคาดว่าจะแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องในอนาคต ส่งผลให้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเพิ่มหน่วยบริการฟอกเลือดฯ ให้เพียงพอเพื่อรองรับความต้องการของผู้ป่วยที่มีอยู่ในปัจจุบัน
KTMS ในฐานะเป็นผู้ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มองว่า ยังมีผู้ป่วยจำนวนมาก ที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษา แม้ว่าหน่วยงานรัฐโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สิทธิผู้ป่วยโรคไตฟอกเลือดผ่านสิทธิบัตรทองฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายก็ตาม
แต่ต้องยอมรับว่าสถานที่หรือหน่วยให้บริการไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในแต่ละวัน ดังนั้นหากมีสถานพยาบาลฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือศูนย์ไตเทียม กระจายทุกพื้นที่ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ก็สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น
ทั้งนี้ จากอัตราตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น สอดรับกับการให้บริการของ KTMS ที่เร่งขยายสถานพยาบาลหรือศูนย์ไตเทียมให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศไทย โดยไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ เตรียมเปิดศูนย์ไตเทียม 3 แห่ง
ล่าสุดเปิดศูนย์ไตเทียมรพ.ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชั้นนำของภาคใต้ตอนบน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ช่วงต้น ก.พ. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในไตรมาส 1/2567 บริษัทฯ ทยอยรับรู้รายได้ทั้ง 3 แห่งเข้ามาทันที
นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมเปิดศูนย์ไตเทียม อีก 1 แห่ง ช่วงเดือนเมษายนนี้ ร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ภาคตะวันตกของประเทศไทย เพื่อให้บริการผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
โดยรพ.ดังกล่าวมีจำนวนเตียงกว่า 20 เตียง สำหรับรองรับผู้ป่วยซึ่งถือว่ามีจำนวนเตียงที่เยอะ ทั้งนี้หากดีลเปิดศูนย์ฯ แล้วเสร็จ KTMS จะสามารถรับรู้รายได้จากการให้บริการเข้ามาทันที
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTMS กล่าวตอกย้ำว่า ในปีนี้บริษัทฯ มีแผนทยอยเปิดศูนย์ไตเทียมเพิ่มอีก 5-8 แห่งตามเป้าที่วางไว้ เพื่อสอดรับกับแผนการขับเคลื่อนกลยุทธ์ในอีก 2 ปีข้างหน้าที่จะขยายศูนย์ไตเทียมให้ครบ 40-50 สาขา จากปัจจุบัน 28 แห่ง ขณะที่เครื่องฟอกไตตั้งเป้าภายในอีก 2 ปีข้างหน้าให้ครบ 400 – 500 เครื่อง จากปัจจุบัน 349 เครื่อง
“ KTMS มุ่งเน้นขยายสาขาให้กระจายทุกพื้นที่ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศทั้ง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคกลาง รวมทั้งในเขตเมืองและในเขตอำเภอ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงวิธีการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมากที่สุด สำหรับหน่วยไตเทียมของ KTMS
แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ หน่วยไตเทียมในโรงพยาบาล (หน่วยไตเทียม หรือ Outsource) และ คลินิกเวชกรรมไตเทียม (คลินิก หรือ Stand Alone) ส่วนโรงงานผลิตน้ำยาไตเทียมนั้น คาดแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งหากแล้วเสร็จจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2-3 เท่า หรือมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 2-4 ล้านแกลลอนต่อปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 900,000 -1,200,000 แกลลอนต่อปี
อย่างไรก็ตาม จากแผนการเพิ่มศูนย์ให้บริการไตเทียมในปี 2567 รวมถึงการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในรูปแบบคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางไตเทียม ภายใต้บริษัท เนโฟร วิชั่น จำกัด (NEP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย
ส่งผลให้บริษัทฯ ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของรายได้ในปี 2567 แตะระดับ 600 ล้านบาท ที่สำคัญยังผลักดันให้บริษัทฯ รักษาการเป็นผู้เล่นในตลาดอุตสาหกรรมฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมรายใหญ่ติด Top 3 ของจำนวนสาขาให้บริการในตลาดอุตสาหกรรมด้วยเช่นเดียวกัน