PROPERTY

แอล ดับเบิลยู เอสฯ เปิด 4 แนวทางพัฒนาอสังหาฯ สู้ “โลกร้อน”

เปิด 4 แนวทางพัฒนาอสังหาฯ สู้ “โลกร้อน”
 
แอล ดับเบิลยู เอสฯ แนะ 4 แนวทางพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สู้ “โลกร้อน” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างสุขภาวะที่ดี (Wellbeing) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อในปัจจุบัน
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
แนะ 4 วิธีในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดขยะจากกระบวนการก่อสร้าง และสร้างสุขภาวะที่ดี (Wellbeing) ในการอยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อในปัจจุบั
และเป็นส่วนหนึ่งที่สนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065
“ภายใต้กรอบของการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน และคาร์บอนเป็นศูนย์ ดังกล่าว ประเทศไทย ได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
โดยสาระสำคัญของกฎหมาย คือ แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจ มีการจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยมีการจัดเก็บภาษีสูง สำหรับองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก และจะลดลงเมื่อองค์กรสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งครอบคลุมไปถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)ของธุรกิจด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 เป็นอย่างเร็ว หรือปี 2569 เป็นอย่างช้า
ดังนั้นการบริหารจัดการองค์กรให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการต้นทุน และ ลดภาระค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
โดย 4 แนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วย
1. การปรับตัวในขั้นตอนการก่อสร้างและออกแบบ โดยใช้การออกแบบที่เรียกว่า Passive Design โดยการจัดวางรูปแบบอาคารโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ทิศทางของแสง และ ลม โดยเราสามารถกำหนดการวางช่องเปิดของอาคาร เพื่อให้แสงและลมธรรมชาติ เข้าสู่อาคารเพื่อลดการใช้พลังงานภายในอาคารและวางการถ่ายเทอากาศ ที่ดีเพื่อลดการสะสมความร้อนภายในอาคาร
2. การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงหรือลดความร้อน ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็อาจจะมาจากผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการผลิตที่ไม่สร้างก๊าซเรือนกระจกหรือสร้างแต่น้อยกว่าผลิตภัณฑ์ปกติอื่นๆ หรือจะเป็นการเลือกใช้วัสดุปิดผิวหรือสีที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงหรือความร้อนเพื่อลดความร้อนที่สะสมบนผิวอาคาร
3. การปลูกต้นไม้ ซึ่งการปลูกต้นไม้อาจจะเป็นวิธีที่ดูพื้นฐานมากที่สุดแต่หากเราออกแบบหรือวางตำแหน่งที่สมควร นอกจากจะช่วยปลูกต้นไม้ทดแทนแล้วยังจะช่วยเรื่องของการเป็นตัวกรองแสงธรรมชาติในการรับแสงอาทิตย์ตรงๆแทนที่จะลงกับอาคาร
และยังสร้างร่มเงาให้กับพื้นที่โดยรอบของอาคารทำให้ลดการสะสมความร้อนบนผิวของวัตถุ เห็นได้ชัดกับทางสัญจรที่เป็นวัสดุคอนกรีตเปรียบเทียบความร้อนสะสมระหว่าง มีร่มเงากับไม่มีจะต่างกันมาก ถึง 5 องศากันเลยทีเดียว
4. การใช้โซล่าเซลล์ ถึงแม้จะต้องลงทุนติดตั้งเพิ่ม ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวแล้ว เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวสำหรับผู้อยู่อาศัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จากแนวทางดังกล่าว นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า จะช่วยให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ สามารถที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่อยู่ในร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อยู่ระหว่างการร่างและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
ในปัจจุบัน “ตามร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะคำนวณค่าใช้จ่ายจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจ ถ้าผู้ประกอบการอสังหาฯ ปรับปรุงกระบวนการก่อสร้าง
และเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกระบวนการทำงานได้ ก็จะลดภาระภาษีที่ต้องจ่าย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปกติในกระบวนการก่อสร้างบ้าน 1 หลัง มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  5-7 tCO2eq เท่ากับ
เมื่อปรับกระบวน    การก่อสร้างสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปีได้ 1-2 tCO2eq เท่ากับว่าเราจะสามารถลดการจ่ายภาษีคาร์บอนลงจาก  5-7 tCO2eq เหลือ 3-4 tCO2eq ต่อปี เป็นต้น”
ถึงแม้ปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะอยู่ในกระบวนการพิจารณาร่างและยังไม่มีผลบังคับใช้ก็ตาม แต่ ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจทุกกลุ่ม
โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมอื่น การปรับตัวก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ จึงไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว
โดยเฉพาะภาระค่าใช้จ่ายจากภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะมีผลบังคับใช้ และในขณะเดียวกัน ยังเป็นการพลิกโฉมธุรกิจอสังหาฯ สู่การเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

ใส่ความเห็น