CFARM ย้ำปี 67 รายได้ทรงตัวหลังส่งมอบไก่ให้คู่สัญญาดีต่อเนื่อง พร้อมขยายการเติบโต มุ่งศึกษา ธุรกิจปศุสัตว์ ทางเลือกใหม่
บมจ.ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) หรือ CFARM ตอกย้ำรายได้ปี 67 ทรงตัวจากปี 66 หลังส่งมอบไก่ให้คู่สัญญาต่อเนื่อง เผยควบคุมต้นทุนดีเยี่ยม และราคาขายสูงขึ้นกว่าครึ่งปีแรก นอกจากนี้กำลังศึกษาขยายธุรกิจปศุสัตว์ทางเลือกใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของธุรกิจ
นางสาวมธุชา จึงธนสมบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานการจัดการ CFARM ประกอบธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์ ประเภทฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อให้กับคู่สัญญาในรูปแบบเกษตรพันธสัญญาแบบประกันราคา เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานครึ่งปีหลัง 2567 ว่าเป้าหมายทั้งปี 2567 บริษัทยังคงเป้าหมายมีรายได้รวบใกล้เคียงปี 2566
โดยเป็นไปตามการบริโภคที่มีมากขึ้นโดยแต่ละปีก็มีการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 3-4% จากเป็นโปรตีนที่มีราคาถูก และภาคส่งออกไก่ของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันกำลังขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก พร้อมทั้งความสามารถในการทำกำไรจะยืนสูงเมื่อเทียบกับปี 2566 หลังบริหารต้นทุนโดยรวมได้ดี
โดยในไตรมาส 3/2567 แนวโน้มผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งมอบไก่ให้กับคู่สัญญาหลัก ยังเป็นไปตามมาตรฐาน และมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ทั้งขั้นตอนการเลี้ยง ต้นทุน และค่าใช้จ่ายทุกภาค
ส่วนช่วงไตรมาส 4/2567 มองว่ายังคงดำเนินธุรกิจได้ดีตามแผนตามที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นว่าภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 จะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากผลการดำเนินงานโดยรวมดีขึ้น และปกติแล้วรอบการเลี้ยงมากกว่า(5รอบปีต่อ หรือ 40-45 วันขาย)
“ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปี 2567 บริษัทคาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้ แม้มีฐานการผลิตเท่าเดิม เนื่องจากมีอัตราการเลี้ยงรอดที่ดีกว่าเกณฑ์ 96% และน้ำหนักตัวไก่ดีกว่าที่ 2.8-3 กิโลกรัม (ตลาดเฉลี่ย 2.7-2.8 กก.) และอัตราการกินอาหารของไก่น้อยลงสวนทางน้ำหนักตัวไก่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนอาหารลดลงด้วย และราคาขายที่สูงกว่าครึ่งปีแรก” นางสาวมธุชากล่าว
สำหรับความคืบหน้าของการขยายฟาร์มเลี้ยงไก่ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อรับสัญญาจากผู้ประกอบการจากคู่สัญญาทั้งรายเดิม และรายใหม่เพิ่มเติม โดยบริษัทจะพิจารณาตามความต้องการของตลาด และสัญญาที่ให้กำไรกับทางบริษัทมากที่สุด
ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มโรงเรือนและก่อสร้างฟาร์มใหม่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งแต่ละฟาร์มจะมีงบลงทุนและขนาดต่างกันไป เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถสรุป และเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1/2568 ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านตัว หรือประมาณ 17 ล้านตัวต่อปี
นางสาวมธุชากล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาหาโอกาส และพิจารณาการลงทุนในธุรกิจใหม่ หรือธุรกิจปศุสัตว์ทางเลือกใหม่ เบื้องต้นกำลังเจรจากับพันธมิตรทั้งในเรื่องรายละเอียด และข้อสรุปต่างๆ คาดว่าจะประกาศได้ภายในไตรมาส 4/2567