FUND

บลจ.อีสท์สปริง เปิดกองทุน“ES-GOVCP6M31”มูลค่า 6,000 ล้านบาท IPO 20-25 ธ.ค.นี้ ชูยิลด์ 1.80%

บลจ.อีสท์สปริง เปิดกองพันธบัตรรัฐมุ่งรักษาเงินต้น “ES-GOVCP6M31” ส่งท้ายปี มูลค่า 6,000 ล้านบาท IPO 20-25 ธ.ค.นี้ ชูยิลด์ 1.80%

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด  หรือ บลจ.อีสท์สปริง เปิดเสนอขายกองทุนเปิดอีสท์สปริง พันธบัตรรัฐมุ่งรักษาเงินต้น 6M31 (ES-GOVCP6M31) อายุประมาณ 6 เดือน เงินทุนโครงการ 6,000 ล้านบาท

ซึ่งเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มุ่งรักษาเงินต้นที่ผู้ลงทุนจะมีโอกาสได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวน และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหน่วยลงทุน ณ วันครบอายุโครงการ โดยเสนอขายครั้งแรกครั้งเดียวระหว่างวันที่ 20-25 ธันวาคม 2567 นี้ ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท

โดยกองทุน  ES-GOVCP6M31 มีนโยบายที่จะนำเงินลงทุนไปลงทุนในตั๋วเงินคลัง และ/หรือพันธบัตรรัฐบาล และ/หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ในอัตราส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

สำหรับเงินลงทุนส่วนที่เหลือจะลงทุนในเงินฝากธนาคาร และ/หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดหรือเห็นชอบให้กองทุนลงทุนได้ และกองทุนจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives)

ทั้งนี้ กองทุนจะลงทุนเพียงครั้งเดียวและถือครองทรัพย์สินที่ลงทุนจนครบอายุโครงการ (Buy and Hold) โดยคาดหวังจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 1.93% ต่อปี ณ วันครบอายุโครงการ ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายประมาณ 0.13% ต่อปี ณ วันครบอายุโครงการ แล้ว ผู้ลงทุนจะได้รับประมาณการผลตอบแทนอยู่ที่ 1.80% ต่อปีของเงินลงทุนเริ่มแรก (แหล่งที่มาของข้อมูล อัตราผลตอบแทนที่เสนอขายโดยผู้ออกตราสาร ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2567)

ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดอายุกองทุน บลจ.อีสท์สปริง จะดำเนินการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนแบบอัตโนมัติ และทำการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของกองทุนทั้งจำนวนของผู้ถือหน่วยทุกราย ไปยังกองทุนเปิดอีสท์สปริง ธนรัฐ (ES-TM) หรือกองทุนรวมตลาดเงินอื่นที่บลจ.อีสท์สปริง เปิดให้บริการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ในวันทำการก่อนวันสิ้นสุดอายุโครงการ

อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เนื่องจากสภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน

ดังนั้น หากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก กองทุนอาจไม่ได้รับเงินต้นและผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ หากผู้ออกตราสารที่กองทุนลงทุนไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนได้ บริษัทจัดการขอสงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่ลงทุนหรือสัดส่วนการลงทุนได้ เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ

โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องไม่ทำให้ความเสี่ยงของทรัพย์สินที่ลงทุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ และผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน และกองทุนมีความเสี่ยงที่สำคัญ

เช่น ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของตราสาร และความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ เป็นต้น

 ผู้สนใจสามารถขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) หรือผู้สนับสนุนการขาย และรับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่ได้รับการแต่งตั้ง และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.eastspring.co.th หรือโทร 1725 ในวันและเวลาทำการ หรือผ่านช่องทางการขายของ บลจ.อีสท์สปริง

อีสท์สปริง อินเวสท์เมนทส์ ในฐานะบริษัทจัดการสินทรัพย์ของกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล (Prudential) กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินระดับสากล เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย บริหารสินทรัพย์ในนามของผู้ลงทุนรายย่อยและผู้ลงทุนสถาบันทั้งหมดกว่า 271 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2567)

เริ่มให้บริการครอบคลุมตลาดเอเชียตั้งแต่ปี 2537  อีสท์สปริง อินเวสท์เมนทส์ เป็นหนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค* มอบโซลูชั่นด้านการลงทุนสำหรับสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ อาทิ หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนแบบผสม กองทุนเชิงปริมาณวิเคราะห์ (Quantitative)และสินทรัพย์ทางเลือก โดยมุ่งมั่นที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนที่มีคุณภาพสูงแก่ลูกค้าในระยะยาว

การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมถือเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ อีสท์สปริง อินเวสท์เมนทส์ และทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนของ อีสท์สปริง อินเวสท์เมนทส์ มีหน้าที่ในการพิจารณาส่งเสริมแนวทางการปฏิบัติอย่างมีธรรมาภิบาลในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล  ให้สอดคล้องกับปรัชญาและกระบวนการการลงทุนของพวกเขา

บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะปรับธุรกิจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับโครงการความคิดริเริ่มด้านความยั่งยืนระดับโลก โดยอีสท์สปริง อินเวสท์เมนทส์ เป็นผู้ลงนามภายใต้ United Nations-supported Principles for Responsible Investment (PRI) ขององค์การสหประชาชาติ และ Asia Investor Group on Climate Change

ใส่ความเห็น